“โรงพยาบาลลาดพร้าว” จ่อขาย IPO เข้า SET ปีนี้ หวังระดมทุนกว่า 1 พันลบ.
"โรงพยาบาลลาดพร้าว" หรือ LPH จ่อขาย IPO 200 ล้านหุ้นช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. คาดเข้า SET ปีนี้ช่วงไตรมาส 4/58 หวังระดมทุนกว่า 1 พันลบ.โดยมีบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น
นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) และอนุญาตให้เสนอขายหุ้น LPH เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น คาดว่าในช่วงไตรมาส 4/58 หรือในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.จะสามารถเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 200 ล้านหุ้น และเข้าทำการซื้อขายใน SET ในหมวดธุรกิจการแพทย์ได้ภายในปีนี้
ช่วงเดือน ต.ค.จะเดินสายนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์)ให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศเพื่อทำการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book-Building) ก่อนจะกำหนดราคา หุ้น IPO ต่อไป สำหรับสัดส่วนการขายหุ้น IPO แบ่งเป็น 180 ล้านหุ้น จัดสรรกระจายให้ประชาชนทั่วไป และส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านหุ้นจะจำหน่ายให้แก่คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นเดิม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน LPH มีทุนจดทะเบียน 375 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 275 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งภายหลังการจำหน่ายหุ้น IPO สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท แอล.พี. โฮลดิ้ง จำกัด จะลดลงเป็น 26.80% จากเดิมที่ 36.54% , กลุ่มตัณฑเทอดธรรม จะลดลงเป็น 5.05% จากเดิม 6.71% ,กลุ่มเศวตวิลาส จะลดลงเป็น 4.85% จากเดิม 6.43% บริษัท ยูเนี่ยน แคปปิตอล จำกัด จะลดลงเป็น 3.39% จากเดิม 4.62% และนางวิมลทิพย์ พงศธร จะลดลงเป็น 3.08% จากเดิม 4.20%
สำหรับแผนการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 15% ตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 62 อีกทั้งจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ระยะยาวที่บริษัทมีอยู่ราว 200 ล้านบาทให้หมด เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทลดลงต่ำกว่า 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 เท่า
ทั้งนี้ทาง บล.เคจีไอฯ ไม่มีความกังวลกับภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี และยังจะให้ส่วนลดหุ้น IPO ของหุ้นโรงพยาบาลลาดพร้าวด้วย ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่พึงพอใจของนักลงทุน ประกอบกับหุ้นกลุ่มการแพทย์และโรงพยาบาลเป็น Defensive Stock ซึ่งไม่ผลกระทบมากนักในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน
ด้านนายอังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ LPH เปิดเผยว่า การระดมทุน IPO ในครึ้งนี้ บริษัทต้องการระดมเงินทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายกิจการโรงพยาบาล 4 อย่าง แบ่งเป็น 1.การพัฒนาศูนย์การแพทย์เฉพาะทางให้ก้าวสุ่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent center) 5 ศูนย์ ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี 58 และปี 59 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 2.การลงทุนก่อสร้างโครงการศูนย์การแพทย์ประกันสังคมลาดพร้าว เงินลงทุน 150 ล้านบาท เพื่อรองรับโควต้าผู้ประกันสังคมเพิ่ม โดยจะมีจำนวนเตียงเพิ่มอีก 30 เตียง และจะมีการเริ่มก่อสร้างในเดือน ต.ค.นี้ และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 60
3.การลงทุนสถานพักฟื้นดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจะใช้เงินลงทุน 157 ล้านบาท ซึ่งจะพิ่มจำนวนเตียง 50 เตียง โดยจะเปิดดำเนินการในปี 61 และ 4.การลงทุนโครงการโรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา เฟสแรก ขนาด 180 เตียง เงินลงทุน 600 ล้านบาท ปัจจุบันได้ซื้อที่ดินแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการออกแบบ รวมถึงการเตรียมการขออนุญาตก่อสร้างและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่าโรงพยายาลลำลูกกาจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 62
อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะหาพันธมิตรที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง โดยจะเป็นการเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางที่บริษัทให้ความสนใจ และมีผลตอบแทนให้กับบริษัทได้ทันที คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในปี 59
ส่วนผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลลาดพร้าวในปีนี้คาดว่ากำไรสุทธิจะฟื้นขึ้นมาใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 99.88 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นผลมาจากการที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้เพิ่มจำนวนบุคลากรอย่างมากจาก 200 คน เป็นกว่า 300 คนในปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้โรงพยาบาลมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรลดลง ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านบุคลากรก็เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลได้ภายในปีนี้
ประกอบกับ ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าผลการดำเนินงานทั้งรายได้และกำไรจะออกมาดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้อยู่ที่ 600.32 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 31.92 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของทุกปี ซึ่งจะมีจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล และจะทำให้รายได้ของโรงพยาบาลในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1.13 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังตั้งหมายอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 28-30% และ 7-10% ตามลำดับตามแผนระยะยาว ปี 58-60