SSI แจงสาเหตุหลักที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง

SSI แจงสาเหตุหลักที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง


บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ระบุว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ขอให้บริษัท ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยปรากฏว่า ไตรมาสที่ 2 และงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3,236 ล้านบาท และ 6,262 ล้านบาท ตามลำดับโดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 1,777 ล้านบาท และผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ในรายงานการสอบทานงบการเงินดังกล่าวเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยว่ากลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 52,765 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมจำนวน 33,953 ล้านบาท

โดยสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทและกลุ่มบริษัทได้กำหนดนโยบายและวิธีการในการบริหารสภาพคล่องและสถานการณ์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงการไม่สามารถปฏิบัติเงื่อนไขตามสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน การเพิ่มทุน และการปรับปรุงตารางการชำระคืนเงินต้นตามที่กำหนดในสัญญาเงินกู้ได้ รายละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 กำหนดว่า บริษัทฯ จะเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯหากงบการเงินประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีปรากฏส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทฯ 

1.สาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่องและขาดสภาพคล่องทางการเงิน

คำชี้แจง กลุ่มบริษัทเริ่มมีผลการดำเนินงานขาดทุนตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทฯ เข้าซื้อธุรกิจโรงถลุงเหล็ก (Upstream Business) ในสหราชอาณาจักร โดยมีรายละเอียดผลการดำเนินงานย้อนหลัง ดังนี้ปี 2554 เป็นช่วงเวลาที่ราคาเหล็กยังอยู่ในระดับสูง และธุรกิจโรงถลุงเหล็กได้เริ่มมีการเตรียมซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กแท่งแบนไว้ แต่เนื่องจากความล่าช้าของโครงการปรับปรุงโรงถลุงเหล็ก (SSI UK Restart Project) ทำให้ยังผลิตเหล็กแท่งแบนไม่ได้ ในขณะที่ราคาเหล็กปรับลดลงในเวลาต่อมาทั้งธุรกิจโรงถลุงเหล็กและธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนจึงต้องแบกรับผลขาดทุนจากการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือและการตั้งสำรองจากภาระผูกพันตามสัญญาซื้อวัตถุดิบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผลขาดทุนในงบการเงินรวม 981 ล้านบาท

ปี 2555 ธุรกิจโรงถลุงเหล็กสามารถเริ่มผลิตเหล็กแท่งแบนแท่งแรกได้ในเดือนเมษายน แต่ต้นทุนการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็กยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นการผลิต จึงยังไม่สามารถผลิตได้ในระดับการผลิตที่เหมาะสม ประกอบกับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของราคาเหล็กในตลาดโลก ทำให้เกิดผลขาดทุนจากการตั้งสำรองจากภาระผูกพันตามสัญญาซื้อวัตถุดิบ ส่งผลให้มีผลขาดทุนในงบการเงินรวม 15,918 ล้านบาท

ปี 2556 ผลประกอบการโดยรวมปรับตัวดีขึ้นทั้งธุรกิจโรงถลุงเหล็กและธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยธุรกิจโรงถลุงเหล็กเริ่มเดินเครื่องอุปกรณ์ PulverizedCoal Injection (PCI) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งช่วยลดต้นทุนพลังงานและเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย (Unit Conversion Cost) ลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็กยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุนส่งผลให้มีผลขาดทุนในงบการเงินรวม 7,053 ล้านบาท

ปี 2557 ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงถลุงเหล็กปรับตัวดีขึ้นมาก และEBITDA สามารถพลิกเป็นบวกได้สำเร็จในครึ่งหลังของปี 2557 แต่ยังขาดทุนเนื่องจากปริมาณการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็กยังไม่สูงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่าย โดยมีผลขาดทุนในงบการเงินรวมลดลงเหลือ 4,903 ล้านบาทงวด 6 เดือน ปี 2558 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูงจากสต็อกเดิม ส่งผลให้มีผลขาดทุนในงบการเงินรวม 6,262 ล้านบาทจึงเป็นสาเหตุให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 1,777 ล้านบาท ดังกล่าว

ทั้งนี้ผลประกอบการที่ติดลบสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลักข้างต้น รวมทั้งยังมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงถึงปีละประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินกู้ยืมเพื่อการลงทุนและเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก โดยธุรกิจโรงถลุงเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงทำให้กลุ่มบริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ธุรกิจโรงถลุงเหล็กเริ่มดำเนินการผลิตเหล็กแท่งแบนในปี 2555 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันจากการปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาสินค้าใหม่ และผลิตเหล็กแท่งแบนที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยสามารถขยายตลาดไปทั่วโลก ทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา

ทั้งนี้ ผลประกอบการของธุรกิจโรงถลุงเหล็กปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่ผลิตแท่งแบนได้ในไตรมาส 2/2555 กล่าวคือ ขาดทุนลดลงทุกไตรมาส และสามารถทำให้ EBITDA เป็นบวกได้สำเร็จในครึ่งหลังของปี 2557 ดังกล่าวข้างต้น แต่ด้วยสภาวะตลาดเหล็กโลกที่กำลังการผลิตล้นความต้องการของตลาดอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 เป็นต้นมา จากการอุดหนุนการส่งออกเหล็กของรัฐบาลจีน ค่าเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียที่ตกต่ำ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจของทั้งประเทศจีนและรัสเซีย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเหล็กจากทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะจีนซึ่งมีปริมาณการส่งออกเหล็กสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาเหล็กแท่งแบน ณ ปัจจุบัน ปรับตัวลดลงมากถึงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับระดับราคาเฉลี่ยที่สูงกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2557 ในขณะที่ธุรกิจโรงถลุงเหล็กสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งราคาเหล็กแท่งแบนได้ลดลงมากกว่าต้นทุนที่ลดลงได้ EBITDA ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กจึงกลับมาเป็นลบในครึ่งปีแรกของปี 2558

2. แนวทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ เพื่อมิให้บริษัทฯ เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์

คำชี้แจง บริษัทฯ ได้มีความพยายามในการเสริมสภาพคล่องโดยการเพิ่มทุนและปรับปรุงการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดดังนี้

ปี 2555 บริษัทฯ ออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและบุคคลในวงจำกัดรวม 8,743.93 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.68 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวม 5,945.87 ล้านบาท

ปี 2556 บริษัทฯ ออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผ้ถือหุ้นเดิมและบุคคลในวงจำกัดรวม 5,085.63 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.68 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวม 3,458.23 ล้านบาท

ปี 2558ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 26 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เม.ย.

2558 มีมติอนุมัติให้ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 16,000 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ โดยกำหนดระยะเวลาการเพิ่มทุนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนที่ให้ความสนใจในธุรกิจของบริษัทเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องระหว่างรอการเพิ่มทุน บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกรรมการบริษัทฯ จำนวน 637 ล้านบาท (ยอดเงินกู้คงค้าง ณ ถึงวันที่ 15 กันยายน 2558) จากวงเงินกู้ 1,700 ล้านบาท และเพื่อเป็นการลดภาระทางการเงินของบริษัทฯ กรรมการบริษัทฯ จึงให้เงินกู้ยืมประเภทไม่มีภาระดอกเบี้ยตลอดระยะเวลากู้ยืมเงิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันเบิกเงินกู้

โดยบริษัทฯ ได้เริ่มเบิกเงินกู้งวดแรกในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558กลุ่มบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารผู้ให้สินเชื่อเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากมีความล่าช้าในการได้รับการผ่อนผันจากธนาคาร ณ วันที่ในงบการเงินทำให้เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 20,595 ล้านบาท ถูกจัดประเภทเป็นหนี้สินหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทได้รับการการยินยอมและผ่อนผันจากผู้ให้กู้ยืมทุกรายแล้วในเดือนสิงหาคม 2558 และให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ออกไปจ่ายชำระในวันที่ 30 กันยายน 2558 และ 30 ธันวาคม 2558 ซึ่งกลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาขอเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ออกไปจ่ายชำระในวันที่ 30 ธันวาคม 2558

กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการทำแผนดำเนินงานเพื่อปรับปรุงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกลุ่มบริษัทให้ดีขึ้น ดังนี้

1. ปรับโครงสร้างธุรกิจโดยลดต้นทุนและหยุดการขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก และมุ่งเน้นสร้างผลกำไรในธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนโดยการจัดหาวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนราคาถูก โดยราคาเหล็กแท่งแบนที่ลดลงมามากในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนมีความสามารถในการแข่งขันสูง และสามารถทำกำไรได้ดีโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (PremiumValue Products) ที่มีส่วนต่างราคาสูง

รวมทั้งโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นจากการเจริญเติบโตของภูมิภาคอาเซียนที่มีปริมาณการบริโภคเหล็ก 60 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน และจะเติบโตไปเป็น 80 ล้านตันต่อปีภายในสามปีข้างหน้า ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการบริโภคเหล็กเฉลี่ยในไทยยังสูงอยู่ที่ 17 ล้านตันต่อปี รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวสูงขึ้น และการขยายตัวของหัวเมืองใหญ่ในประเทศ

2. ปรับโครงสร้างทางการเงินของกลุ่มบริษัทเพื่อเสริมสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งทางฐานะการเงินของกลุ่มบริษัท เช่น การเพิ่มทุน

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและสามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2558 เพื่อไม่ให้งบการเงินประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีปรากฏส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์

Back to top button