ECF บุกธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มสูบ-จ่อสรุปแผนร่วมทุน FPI-GUNKUL

ECF มั่นใจกำไรปีนี้ดีกว่าปีก่อน พร้อมลุยตลาด AEC เล็งขยายสาขา ELEGA และ Finna House ต่อเนื่อง ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกลางปี 60 เป็นต้นไป ด้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะร่วมทุนกับ FPI และพันธมิตรรายอื่นๆ ยังอยู่ในขั้นตอนของการรอความชัดเจน คงเป้ายื่นเสนอขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 120 เมกะวัตต์ และคาดว่ามีโอกาสได้รับไม่น้อยกว่า 40-50 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโซลาร์รูฟท็อปร่วมกับ GUNKUL กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐเช่นกัน


นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจกำไรสุทธิปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่ทำได้ 69.88 ล้านบาท หลังได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงที่และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง หลังจีนลดการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย

โดยคาดว่าอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 6.5-7% สูงกว่า 5.66% ในปีก่อนและในช่วงไตรมาส 4/58 อัตรากำไรสุทธิจะขึ้นไปถึงระดับ 10% เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาประมาณ 10%

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งในด้านรายได้ และกำไรสุทธิ คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะยอดขายในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้บริษัทยังสามารถหาช่องทางการตลาด โดยอาศัยการเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศอื่นๆที่ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มลูกค้าในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง สำหรับยอดขายในประเทศก็ยังมีการเติบโตได้ โดยปีนี้และปีหน้าบริษัทมั่นใจว่ารายได้จากส่วนธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 12%

สำหรับแผนการขยายสาขาในประเทศบริษัทมีแผนเปิดโชว์รูมแบรนด์ ELEGA อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอยู่ 15 สาขา และปีหน้าตั้งเป้าเปิดไม่ต่ำกว่า 2 – 3 สาขา และการเปิดสาขาของเฟอร์นิเจอร์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของดิสนีย์บริษัทได้เริ่มจำหน่ายสินค้า ชื่อร้าน Finna House ซึ่งในปลายปีนี้มีแผนที่จะเปิด Flagship store ย่านเกษตรนวมินทร์อีกทั้งยังวางแผนเปิดสาขา Finna House ปีนี้อีกจำนวน 2 สาขาด้วย

ขณะที่ปีหน้าจะเปิดอีก 2 สาขาโดยตั้งเป้ามีสาขา Finna House เพิ่มเป็น 10 สาขาในปี 60 ขณะเดียวกันบริษัทจะนำผลิตภัณฑ์แบรนด์ ดิสนี่ย์เข้าไปขายในโมเดิร์นเทรด ในช่วงประมาณเดือนพ.ย. นี้ โดยบริษัทคาดว่าจะมียอดขายในส่วนของดิสนีย์ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ภายในปี 59 สำหรับงบลงทุนในการเปิดสาขาทั้งแบรนด์ Finna House และ ELEGA คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท/สาขา แต่หากเป็นสาขา Flagship store อาจจะอยู่ที่ราว 4-5 ล้านบาท/สาขา

อย่างไรก็ดี บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนขยายการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อใหม่  ขณะที่ในช่วง 1-2 เดือนนี้บริษัทจะเจรจากับลูกค้าเพื่อที่จะรับคำสั่งซื่อใหม่ๆเข้ามา โดยการขยายการผลิตนั้นอาจจะเป็นรูปแบบการสร้างโรงงานผลิตเอง หรือการจ้างภายนอก (Outsource) เป็นผู้ผลิต ซึ่งหากได้รับงานใหม่เพิ่มเติมบริษัทจะมีการผลิตไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อที่เข้ามา เนื่องจากปัจจุบันใช้กำลังการผลิตไปถึง 80% และยังมีการจ้าง Outsource อีกบางส่วน

ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนนั้นบริษัทยังคงมีแผนการขยายงานต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ตั้งแต่กลางปี 60 เป็นต้นไป หากการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ , โครงการโซลาร์รูฟท็อปรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทำได้ตามแผนที่หวังไว้

โดยโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่จะร่วมทุนกับบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI และพันธมิตรรายอื่นๆ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการรอความชัดเจนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ โดยบริษัทยังคงเป้าหมายที่จะยื่นเสนอขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 120 เมกะวัตต์ และคาดว่ามีโอกาสได้รับไม่น้อกว่า 40-50 เมกะวัตต์

ขณะที่การลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อปร่วมกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐเรื่องการประกาศรับซื้อไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เตรียมความพร้อมในทุกๆด้านทั้งในส่วนของพื้นที่หลังคา ที่จะใช้สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์รูฟ ที่มีพื้นที่ประมาณ 70,000 ตารางเมตร อีกทั้งยังเตรียมมิเตอร์จ่ายไฟไว้แล้ว

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ 1.5 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามบริษัทจะพิจารณาถึงผลตอบแทนในการลงทุน(IRR) ไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องสนับสนุนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 36 เยน/หน่วย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นมีการสนับสนุนอัตรารับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่น้อยกว่า 36 เยน/หน่วย ส่งผลให้บริษัทอาจจะยังไม่ได้พิจารณาเข้าไปลงทุนในช่วงนี้

 

Back to top button