“เงินติดล้อ” เคาะช่วงไอพีโอ 34-36.50 บ. เปิดจอง 22-26 เม.ย.นี้

“เงินติดล้อ” เคาะช่วงไอพีโอ 34-36.50 บ. เปิดจอง 22-26 เม.ย.นี้


นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ “TIDLOR”  เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าแผนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 1,043.54 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) พร้อมกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้นที่ 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 35,480 – 38,089 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

โดยนับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด และเป็น IPO หุ้นที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุด 5 ลำดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย พร้อมกระแสการตอบรับอย่างล้นหลามจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลก โดยมีนักลงทุนสถาบันคุณภาพที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศจำนวนรวม 32 ราย ลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้น TIDLOR เพื่อเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นจำนวนหุ้นรวม 626.0 ล้านหุ้น หรือประมาณร้อยละ 69.0 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ TIDLOR ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น FIL Investment Management, JP Morgan Asset Management, Lion Global Investors Limited, Neuberger Berman เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ. บัวหลวง บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) บลจ. กรุงไทย บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นต้น

โดยจะมีการทำโรดโชว์เพื่อนำเสนอข้อมูลให้แก่นักลงทุนทั่วไปในวันศุกร์ที่ 16 เมษายนนี้ ทาง Facebook Live ของเงินติดล้อ และพร้อมเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจมาร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตอย่างยั่งยืนไปกับเงินติดล้อ โดยสามารถจองซื้อหุ้นในระหว่างวันที่ 22 – 26 เมษายน พ.ศ. 2564 นี้ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน),ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) ด้วยวิธีการจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First กำหนดจำนวนจองซื้อหุ้นขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 36,500 บาทที่ราคาเสนอขายสูงสุด โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“ผมและทีมงานผู้บริหารของเงินติดล้อมีความมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเติบโตที่สำคัญอีกครั้งกับการเสนอขายหุ้น IPO และนำเงินติดล้อเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผมเชื่อมั่นว่าเรามีความแตกต่างที่โดดเด่นจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม และ TIDLOR จะเป็นหุ้นคุณภาพอีกหนึ่งตัวสำหรับนักลงทุนและตลาดทุนไทย ที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

สำหรับเงินติดล้อ เป็นผู้นำบริการทางการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อย โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใสแก่ผู้คนควบคู่ไปกับการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน และมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมผ่านการบุกเบิกและนำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทาง (Omni-Channel) เช่น เครือข่ายสาขากว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ การส่งต่อลูกค้าผ่านเครือข่ายตัวแทน การขายผ่านโทรศัพท์ ตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกมือสอง สาขาของธนาคารกรุงศรีอยุธยา คอลล์เซ็นเตอร์ และช่องทางออนไลน์

ปัจจุบัน เงินติดล้อให้บริการ 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันครบวงจร ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 เมื่อคำนวณจากยอดหนี้คงค้างในปี 2562 (อ้างอิงข้อมูลจากโอลิเวอร์ ไวแมน) และมีผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลาย เช่น สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 10 นาที, สินเชื่อรถเก๋งกระบะอนุมัติไวภายใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสดหมุนเวียน ให้ลูกค้าสามารถกดเงินสดที่ตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นคู่ค้าทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง และ

(2) ธุรกิจนายหน้าประกันภัย ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3 ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยแก่รายย่อยในปี 2562 โดยมีบริษัทประกันภัยพันธมิตรชั้นนำ 18 ราย และมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย อาทิ ประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล, ประกันโรคมะเร็ง ฯลฯ

อีกทั้งเงินติดล้อ ได้วางกลยุทธ์การเติบโตในอนาคตโดยมุ่งรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ผ่านการขยายเครือข่ายและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งดำเนินการเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานต่าง ๆ สู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจนายหน้าประกันภัย มีแผนตอกย้ำให้แบรนด์เงินติดล้อเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมทั้งขยายผลิตภัณฑ์และให้บริการธุรกรรมแบบครบวงจรผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ มีแผนจะนำไปใช้ในการขยายสาขาจำนวน 500 สาขาในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ปรับปรุงและพัฒนาโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ปรับโครงสร้างเงินทุนโดยการชำระหนี้คืนบางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และวัตถุประสงค์อื่น ๆ

ทั้งนี้หุ้นสามัญของ TIDLOR ที่จะเสนอขายในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกินร้อยละ 39.1 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO ในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น (1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเงินติดล้อจำนวนไม่เกิน 210,816,700 หุ้น (2) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวนไม่เกิน 284,144,300 หุ้น และ (3) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 412,467,600 หุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe หรือ Over-allotment Option) จำนวนไม่เกิน 136,114,200 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรกหลังหุ้นของ TIDLOR เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในการเสนอขายหุ้นสามัญของ TIDLOR ในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)

Back to top button