TSTH วิ่งแรง 18% นิวไฮรอบ 9 ปี รับกำไรปี 64 โตสนั่นกว่า 10 เท่า

TSTH วิ่งแรง 18% นิวไฮรอบ 9 ปี รับกำไรปี 64 (สิ้นสุด 31 มี.ค.64) โตสนั่นกว่า 10 เท่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.33 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 17.70% มูลค่าซื้อขาย 183.57 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH ล่าสุด ณ เวลา 10.15 น. อยู่ที่ 1.33 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 17.70% สูงสุดที่ 1.41 บาท ต่ำสุดที่ 1.27 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 183.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้น TSTH ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.34 บาท เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 หลังรายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 (สิ้นสุด 31 มี.ค.2564) มีกำไร 630.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,217% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร  47.88 ล้านบาท

โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ TSTH ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 63/64 (สิ้นสุด 31 มี.ค.64) มีกำไรที่สูงเด่นถึง 406 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 993% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และ 307% เมื่อเทียบจากปีก่อน) มากกว่าที่คาดการณ์เมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 ที่ประเมินกำไร 300-400 ล้านบาท ถ้าหากหักการตั้งสำรองโรงถลุงขนาดย่อม (Mini Blast Furnace) 117 ล้านบาท จะมีกำไรปกติที่สูงถึง 518 ล้านบาท

โดยผลประกอบการได้แรงหนุนจากราคาขายเฉลี่ยที่พุ่งขึ้นตามราคาเหล็กในตลาดโลกสู่ระดับ 19,469 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และ 21% เมื่อเทียบจากปีก่อน)  และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 366,000 ตัน (เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และ 14% เมื่อเทียบจากปีก่อน) รวมแล้วทำให้มูลค่ายอดขายพุ่งขึ้นเป็น 7,126 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 32%เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และ 39% เมื่อเทียบจากปีก่อน) การที่ราคาปรับขึ้นในขณะที่ TSTH มีสต็อกประมาณ 1.5 เดือน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นพุ่งขึ้นเป็น 10.5% จาก 3.9% ในไตรมาสก่อน และ 5.7% ในปีก่อน

ทั้งนี้ สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กดีขึ้นหลังเหล็กจีนออกมาตีตลาดลดลงมาก ซึ่งจะหนุนผลประกอบการดีขึ้น โดยประเมินราคาเป้าหมาย อิงกับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นได้เท่ากับ 1.20 บาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ค่าเฉลี่ย 10 ปี Forward P/BV  1SD อยู่ที่ 0.65 เท่า ได้เท่า 0.75 บาท  ราคาหุ้นปัจจุบันพุ่งขึ้นจากต้นปีถึง 69% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน  จึงมองขึ้นมารับมากแล้ว และมีอัพไซด์ไม่มาก จึงลดเกรดคำแนะนำลงเป็น “ถือ” จาก “ซื้อเก็งกำไร” โดยสินค้าเหล็กในอดีตมีความผันผวนสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก

Back to top button