“ทริสฯ” คงเรตติ้งองค์กร-หุ้นกู้ KKP ที่ “A” สะท้อนแหล่งรายได้หลากหลาย

"ทริสฯ" คงเรตติ้งองค์กร-หุ้นกู้ KKP ที่ "A" สะท้อนแหล่งรายได้หลากหลาย


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ที่ระดับ A รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารที่ระดับ A และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ตลอดจนเงินกองทุนที่เพียงพอซึ่งได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง และคุณภาพสินทรัพย์ที่สามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่ธุรกิจธนาคารของธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีขนาดค่อนข้างเล็ก

โดยการประเมินสถานะทางธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินภัทรของทริสเรทติ้งสะท้อนถึงการมีธุรกิจธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตามธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีตำแหน่งทางการตลาดที่ดีในธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล จากฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของทริสเรทติ้ง ธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีส่วนแบ่งการตลาดในระดับปานกลางที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2562 ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อและเงินฝากอยู่ที่ระดับประมาณ 2.1% และ 1.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น

สำหรับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีความแข็งแกร่งขึ้น สิ่งนี้ได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร ความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านตลาดทุน การแนะนำลูกค้าภายในกลุ่ม และการให้บริการบัญชีเงินฝากของธนาคารเกียรตินาคินภัทรกับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของบริษัทหลักทรัพย์ของกลุ่ม (บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร) เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมการลงทุน

ทั้งนี้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทรรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปี 2563 ผลประกอบการของธนาคารลดลง 14.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงน้อยที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายและการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่ทำได้ค่อนข้างดี ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรคิดเป็นประมาณ 66% ของรายได้รวมของธนาคารในปี 2563 ตามมาด้วยธุรกิจตลาดทุน (26%) และธุรกิจบริหารหนี้เสีย (8%) แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแหล่งรายได้ที่หลากหลายของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งช่วยประคับประคองธนาคารได้ดีในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งมองธุรกิจตลาดทุนของธนาคารในเชิงบวกว่าเป็นแหล่งการกระจายความเสี่ยงที่ดี แม้ว่าจะก่อให้เกิดความผันผวนของกำไรก็ตาม รายได้และกำไรจากธุรกิจตลาดทุนโดยทั่วไปได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดในประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ดำเนินกลยุทธ์ในการขยายประเภทผลิตภัณฑ์ ให้กับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งผ่านการลงทุนโดยตรงในตลาดต่างประเทศและกองทุนหุ้นนอกตลาด แม้ว่าสิ่งนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงในระยะยาว แต่ทริสเรทติ้ง

อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะรักษาสถานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่คาดการณ์ไว้อยู่ในช่วง 15.6%-16.1% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการเงินทุนเชิงรุกของธนาคาร และการเสริมสร้างเงินกองทุนจากภายในที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งประมาณการว่าธนาคารจะขยายพอร์ตสินเชื่อประมาณ 5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 14.3% สูงกว่า ณ สิ้นปี 2562 ที่ระดับ 13.6% เล็กน้อย ในขณะเดียวกันเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 78.4% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพของเงินกองทุนของธนาคารซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เงินกองทุนของธนาคารเกียรตินาคินภัทรอยู่ในระดับเพียงพอที่จะรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะรักษาความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคงเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลประกอบการของธนาคารในปี 2564-2566 จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.6%-1.8% จากการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลางในช่วง 3 ปีข้างหน้า การลดลงของต้นทุนทางเครดิต และการประหยัดต้นทุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารในปี 2563 ลดลงสู่ระดับ 1.52% จากระดับ 1.94% ในปี 2562 แต่ยังดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 0.92% ในช่วงเวลาเดียวกัน

Back to top button