COTTO เดินหน้าสร้างยอดขายหลายช่องทาง เพิ่มความสะดวกลูกค้าช่วง “โควิด-19”
COTTO เดินหน้าสร้างยอดขายหลายช่องทาง เพิ่มความสะดวกลูกค้าในการเข้าถึงและซื้อสินค้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ "โควิด-19"
นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เปิดเผยว่า บริษัทฯวางแผนการดำเนินงานในระยะสั้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ โดยพยายามเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายผ่านช่องทางที่หลากหลายและผสมผสานระหว่างหน้าร้านสาขาและช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านผู้แทนจำหน่าย ร้านค้าปลีก ร้านค้าช่วง โมเดิร์นเทรด และ COTTO Life ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะเข้าถึงและซื้อสินค้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและลดความกังวลจากการติดเชื้อในสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย
ทั้งนี้ การขายผ่านหน้าร้าน เช่น คลังเซรามิค เป็นร้านที่มีลักษณะเปิดโล่งในพื้นที่กว้างขวาง โดยมีพื้นที่ของแต่ละสาขามากกว่า 1,000 ตารางเมตร ซึ่งลูกค้าสามารถรักษาระยะห่าง Social Distancing ที่สำคัญพนักงานทุกคนได้รับการอบรมเรื่องขั้นตอนการบริการและมาตรการปฏิบัติตน เพื่อดูแลตนเองและลูกค้าให้ปลอดภัยจากโควิด-19 อีกทั้งยังได้เพิ่มบริการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส ทั้งการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร หรือคิวอาร์โค้ด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น ปัจจุบัน คลังเซรามิค มีจำนวนทั้งหมด 47 สาขา กระจายอยู่ตามพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ ยังคงเร่งขยายสาขาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี บริษัทฯยังได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีและการสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ช่วยให้สามารถบริหารจัดการช่องทางจัดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ล่าสุด บริษัทฯได้ทดลองเพิ่มรูปแบบกิจกรรมการขายสินค้าให้กับกลุ่มผู้แทนจำหน่ายเป็นการสั่งจองและขายสินค้าผ่านการ Live ทางเฟซบุ๊ก ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก ถือเป็นการปรับกระบวนการทำงานภายใน ระหว่างบริษัทและผู้แทนจำหน่ายซึ่งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เพิ่มความรวดเร็วและความต่อเนื่องในการติดต่อซื้อขายระหว่างกันในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด
“คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังคงส่งผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีหลายปัจจัยที่ควรเฝ้าระวัง เช่น แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อ และสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ โดยมองว่าในปี 2564 ยังมีการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของการอยู่อาศัยจริง และมาจากความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จะยังคงมีสินค้าที่น่าจะได้รับผลเชิงบวก คือ กลุ่มสินค้าโครงสร้างรวมทั้งกลุ่มสินค้าตกแต่ง เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ เชื่อว่าในช่วงสั้นๆ สถานการณ์ตลาดในประเทศจะยังทรงตัวในลักษณะนี้ต่อไป โดยอาจจะมีปัจจัยหนุน คือ แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐ”