ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้อง BTS ปมแก้เกณฑ์ประมูล “สายสีส้ม”
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้อง BTS ปมแก้เกณฑ์ประมูล “สายสีส้ม”
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของ BTS กรณีผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 รวม 7 คน แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูล โดยศาลฯ จะเปิดโอกาสให้จำเลยส่งคำแถลงภายใน 15 วัน
โดยในเบื้องต้น ศาลฯ นัดพร้อมในวันที่ 7 ก.ค.64 แต่อาจมีการเลื่อนนัดไต่สวน เนื่องจากต้องพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ( โควิด 19) อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าคดีนี้จะได้ข้อยุติหรือความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้
อนึ่งคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 กลุ่ม BTS ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 รวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางกรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/64 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และศาลได้นัดทั้งสองฝ่ายฟังคำสั่งในวันนี้
นอกจากนี้ ศาลฯ ได้สอบถามถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า มีข้อเท็จจริงเดียวกับที่นำมาฟ้องต่อศาลอย่างไรหรือไม่ โดยทนายนำเรียนศาลว่าเป็นกรณีบุคคลภายนอกไปร้องเรียนต่อดีเอสไอ ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่มีการหยิบยกประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะให้เจ้าหน้าที่ศาลมีหนังสือสอบถามพร้อมส่งคำฟ้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า รฟม. จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่หรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ รฟม. แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อระงับการประมูลหรือไม่ ยังไม่ขอตอบในส่วนนี้ เพราะต้องดูเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งใหม่ก่อน
ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลใหม่ว่ามีคณะกรรมการอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นคณะกรรมการตามมาตรา 36 ได้ลงนามร่วมกันยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมา ทำให้ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้โครงการเสียหาย ซึ่งจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลฯ พิจารณาต่อไป
ส่วนการพิจารณาคดีทางแพ่งด้านความเสียหายของ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS ทางทีมทนายความอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายทั้งหมด และจะส่งให้ศาลแพ่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด
ขณะที่ความคืบหน้าของการยื่นอุทธรณ์ในกระบวนการศาลปกครอง ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีกรณีแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและการฟ้องใหม่ กรณีการยกเลิกการประมูลที่ผ่านมาไม่ชอบนั้น ขณะนี้ศาลปกครองได้รับเรื่องไว้แล้ว