สื่อ “ออสซี่” ตีข่าว “ธรรมนัส” ไม่หลุดส.ส.-รมต. “สุณัย” ชี้ โจรที่ไหนก็เล่นการเมืองไทยได้
สื่อ "ออสซี่" ตีข่าว "ธรรมนัส" ไม่หลุดเก้าอี้ส.ส.-รมต. "สุณัย ผาสุก" ชี้ โจรที่ไหนก็เล่นการเมืองไทยได้
วันนี้ (5 พ.ค.64) สำนักข่าว Sydney Morning Herald ของออสเตรเลีย รายงานข่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แม้ก่อนหน้านี้ศาลมลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย จะเคยตัดสินจำคุกร้อยเอกธรรมนัสในเรือนจำซิดนีย์เป็นเวลา 4 ปี จากการนำเข้าเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 4.1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
นอกจากนี้ Sydney Morning Herald รายงานว่า กรณีของธรรมนัสเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดในการชุมนุมใหญ่บนท้องถนนของไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลังการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจร้อยเอกธรรมนัสผ่านช่องทางรัฐสภารอบแรกในปี 2563 ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งธรรมนัสได้รับคะแนนเสียงโหวตน้อยที่สุด แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2564 กลับได้รับเสียงโหวตมากที่สุด มากกว่าแม้กระทั่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ขณะที่สื่อออสเตรเลียชื่อดังยังได้สัมภาษณ์ วรนัยน์ วาณิชกะ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว Thisrupt ซึ่งให้ความเห็นว่า ไม่มี หลักนิติธรรม ในประเทศไทย มีแต่ Rule of Power หรือ กฎแห่งอำนาจ เท่านั้น พร้อมระบุว่า สถานะของร้อยเอกธรรมนัสถือเป็น ดีลเมกเกอร์ ผู้ทรงพลังคนสำคัญในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉะนั้น คำตัดสินที่ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร
ขณะที่ สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ Sydney Morning Herald ด้วยเช่นกันว่า
“ด้วยคำตัดสินล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ อาชญากรทุกประเภทที่ถูกตัดสินในศาลประเทศอื่นก็สามารถเข้ามาทำงานการเมืองในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกังวล การก่ออาชญากรรมไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหนก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญไทย”
ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 15.00 น. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวินิจฉัยให้ธรรมนัสไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี
โดยนายชัยธวัชได้แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่า การตัดสินดังกล่าวขัดกับแนวทางปฏิบัติและการตีความบทบัญญัติกฏหมายในรัฐธรรมนูญปี 2521 ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยข้อกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเลือกตั้ง ที่หากบุคคลใดต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษยังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้งเว้นแต่ในความผิดที่กระทำโดยประมาทมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา
ซึ่งในบทบัญญัติกฏหมายดังกล่าวมิได้ระบุว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมายให้จำคุกว่า ต้องจำเพาะเจาะจงเป็นศาลในประเทศใด และบุคคลดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพราะเป็นบุคคลที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม
ฉะนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำผิดในประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับกรณีที่ว่าหากเป็นการกระทำผิดแบบเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน แต่ถูกจำเพาะเจาะจงต้องห้ามเพียงในประเทศเท่านั้น ผู้ที่กระทำผิดแบบเดียวกันแต่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศก็จะยังมีสิทธิลงรับสมัครเป็นสมาชิกผู้แทนราษฏร จึงไม่ต่างกับการล้มเจตนารมณ์แนวทางปฏิบัติโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง
“คำวินิจฉัยที่ออกมาในวันนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามต่อองค์กรอิสระในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ว่าสามารถเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจบางกลุ่มแล้วโดยสมบูรณ์หรือเปล่า”
อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลจะยังเดินหน้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว และจะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกาเนื่องจากคดีดังกล่าวผิดต่อหลักจริยธรรมอย่างร้ายแรงน
นอกจากนี้ นายชัยธวัชตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ร้อยเอกธรรมนัสเคยยอมรับอย่างชัดเจนว่าเคยถูกจำคุกในคดีค้ายาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ตามที่พรรคก้าวไกลได้ชี้แจงหลักฐานในที่ประชุมไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ตามที่ร้อยเอกธรรมนัสเคยอ้างว่าตนเคยถูกจำคุกเพียง 8 เดือน และยาเสพติดดังกล่าวคือแป้งนั้น เป็นการโกหกกลางที่ประชุมสภา
ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ควรวินิจฉัยต่อความผิดดังกล่าว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ต่างจาก รัฐบาลโจรอุ้มโจร หากไม่สามารถคืนความยุติธรรมและกฏหมายปกติให้แก่ประชาชนได้
อย่างไรก็ดี การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว มีขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความเป็นอธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้นต้องยึดเฉพาะคำพิพากษาของศาลไทย
โดยการวินิจฉัยเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสงคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรและสหกรณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่