สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 21 ก.ย.58
– ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.08 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 119.83/85 เยน/ดอลลาร์
– ส่วนเงินยูโรเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 1.1267 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1303/1305 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,392.73 เพิ่มขึ้น 2.41 จุด หรือ 0.17% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 27,892 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 49.94 ล้านบาท (SET+MAI)
– สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.58 อยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.0 ในเดือนก.ค. โดยปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน จากความกังวลต่อภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ การบริโภคในประเทศหดตัว โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง
– สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ในเดือนส.ค. 58 ส่งออกรถยนต์ได้ 101,982 คัน เพิ่มขึ้น 13.88% จากเดือนส.ค.57 เนื่องจากมีการส่งออกรถกระบะรุ่นใหม่และการส่งออกรถอีโคคาร์ยังเติบโตดี โดยมีมูลค่าการส่งออก 52,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
– นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย(TMB) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบี เตรียมวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 หมื่นล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และ 3 หมื่นล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยประกอบไปด้วย 3 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสินเชื่อ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี 3 เท่าพลัส
– นายซู เชาซี ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) แสดงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจจีน โดยระบุถึงสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับแรงผลักดันที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพมากขึ้นสำหรับการขยายตัวในระยะยาว ซึ่งแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้ชะลอลง แต่ก็ยังคงอยู่ในช่วงที่เหมาะสม และสัญญาณเชิงบวกยังแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
– สถาบันสังคมศาสตร์จีน คาดการณ์ว่า GDP ของจีนในปี 2558 จะอยู่ที่ 6.9% ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอลง เนื่องจากอุปสรรคเชิงสถาบัน เช่น ระบบการลงทะเบียนครัวเรือนที่เข้มงวดและการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล เป็นปัจจัยที่ฉุด GDP ขณะที่จีนพึ่งพาการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการบริโภคในยุคที่ชุมชนจีนมีการพัฒนาเข้าสู่สังคมเมืองมากกว่าอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเป็นหลัก
– นายจู เซียน รองประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) ของกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่าความร่วมมืองทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐเป็นแรงผลักดันที่ “ที่ไม่อาจต้านทานได้” โดยแรงผลักดันที่ไม่อาจต้านทานได้ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐ มาจากความแข็งแกร่งของตลาดและโลกาภิวัตน์ ซึ่งพิจารณาจากความสอดคล้องของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ
– นายคิม จอง-ซิค ศาสตราจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยยอนเซกล่าวว่า เกาหลีใต้ควรเตรียมรับมือกับการรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ด้วยการลดค่าเงินวอน แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์