SIAM ศึกษาระดมทุน-เพิ่มทุน ลุยพลังงานทดแทน-ขยายธุรกิจใหม่
SIAM อยู่ระหว่างศึกษาการระดมทุน-เพิ่มทุนใช้ทำพลังงานทดแทน-ขยายธุรกิจใหม่ๆ เผยเซ็น MOU กับพันธมิตรในญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนการผลิตสินค้าในกลุ่ม ด้านวิศวกรรมโยธา
นายสุรพล คุณานันทกุล รองผู้อำนวยการ บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ SIAM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนระดมทุน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทุนด้วย เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำเงินมาขยายธุรกิจที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยการลงทุนใหม่จะอยู่ทั้งในกลุ่มสินค้าห้องน้ำสำเร็จรูป ,การร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นศึกษาการลงทุนผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรมโยธา รวมถึงธุรกิจพลังงานในส่วนโครงการโซล่าร์เซลล์ และพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและอาเซียน
“สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าบางโครงการต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บริษัทจึงอยู่ระหว่างศึกษาแผนการระดมทุน ซึ่งการเพิ่มทุนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ขอย้ำว่าหากจะเพิ่มทุนบริษัทไม่มีนโยบายขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงอย่างแน่นอน” นายสุรพล กล่าว
สำหรับธุรกิจใหม่ที่บริษัทตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ การผลิตสินค้าห้องน้ำสำเร็จรูปด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สำหรับลูกค้าโครงการคอนโดมิเนียม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 2 ราย ที่สนใจนำห้องน้ำสำเร็จรูปของบริษัทไปติดตั้งในโครงการคอนโดมิเนียม ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวนรวมประมาณ 3,300 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 180 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายได้ภายในสิ้นปีนี้ และบริษัทยังมีแผนขยายตลาดเข้าสู่ลูกค้ากลุ่มโรงแรมอีกด้วย โดยตั้งเป้าจะมีรายได้จากห้องน้ำสำเร็จรูปประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทได้เซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับบริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิคิน เมทอล โปรดักส์ จำกัด และ บริษัท ฮานวา จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการร่วมลงทุนในการผลิตสินค้าในกลุ่ม Civil Engineering Products หรือผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรมโยธา โดยใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหลักเนื่องจากมองเห็นโอกาสการลงทุน จากการที่ประเทศไทยมีโครงการเมกะโปรเจ็คที่รัฐบาลจะลงทุนหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทางด่วนระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านดังกล่าวเป็นจำนวนมากตามมา
ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจพลังงาน ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาที่จะลงทุนโครงการโซล่าเซลล์ และรวมถึงธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่นไบโอแมส หรือโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ ทั้งในไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยมีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน เช่น กัมพูชา และเมียนมาร์ ที่ยังขาดแคลนพลังงาน โดยล่าสุดบริษัทได้รับคัดเลือกให้เสนอโครงการพลังงานทดแทนในที่ราชพัสดุที่กองทัพเรือครอบครองใช้ประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินงานการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยราชการ จากนั้นบริษัทก็พร้อมเริ่มงานทันที
รวมถึงบริษัทได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการการพัฒนากลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) สำหรับการติดตั้งโซล่ารูฟท็อป ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการที่บริษัทได้รับคัดเลือกและความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นโครงการนำร่องไปสู่การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นๆของบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคต