EPG งบปี 2563/64 สดใส! โชว์กำไร 1.22 พันลบ. เตรียมปันผล 0.19 บ./หุ้น
EPG ผลประกอบการปี 2563/64 เติบโตสดใส โชว์กำไรสุทธิ 1,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน พร้อม เตรียมจ่ายเงินปันผล 0.19 บาทต่อหุ้น เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 23 ก.ค.นี้
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG เปิดเผยว่า ปีบัญชี 2563/64 (1 เม.ย.63 – 31 มี.ค.64) นับเป็นปีที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ทำให้ภาครัฐในหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยบริษัทได้ปรับแผนธุรกิจและออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เช่นการนำนโยบายลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือ นโยบาย “USE” มาใช้บริหารงานภายในองค์กร (“USE”U: Utilization ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า/ S:Save ประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกด้าน) และมีการรักษาสภาพคล่องและสถานะทางการเงิน มีการทบทวนแผนการลงทุน รวมถึงมีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ได้จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินงานให้ได้มากที่สุด
สำหรับผลการดำเนินงานปีบัญชี 2563/64 (1 เม.ย.63 – 31 มี.ค.64) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 9,569.20 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 10,217.4 ล้านบาท จำนวน 648.2ล้านบาท หรือปรับตัวลดลง 6.3% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 31.2% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีกำไรสุทธิ 1,221.20 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 999.30 ล้านบาท จำนวน 221.90 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.2% โดยมีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น AEROKLAS 46.7% AEROFLEX 27.5% และ EPP 25.8% เป็นผลมาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้
-ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflexมีรายได้จากการขายรวม 2,626 ล้านบาท หรือลดลง 12.8% จากปีก่อน ยอดขายในประเทศยังเติบโตช้าตามการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากภาคเอกชนยังคงชะลอการลงทุน อีกทั้งเกิดความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ยอดขายตลาดในสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นเทียบกับปีก่อน ส่วนยอดขายในเอเชียทยอยฟื้นตัว
-ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Aeroklas มีรายได้จากการขายรวม 4,471.40 ล้านบาท หรือลดลง 5.4% จากปีก่อนยอดขายกลุ่มบริษัทแอร์โรคลาสได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีบัญชี 2563/64 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.63) ส่งผลให้กลุ่มลูกค้า OEM ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งในประเทศประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวตั้งแต่สิ้นเดือน มี.ค. ถึง พ.ค. 2563 อีกทั้ง กลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่มีความต้องการซื้อลดลง
รวมถึงความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้น กลุ่มบริษัทแอร์โรคลาสสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับกับความต้องการยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศทำให้ยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปีบัญชีก่อนหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
-ธุรกิจในประเทศออสเตรเลียมียอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนออสเตรเลียนิยมท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น อีกทั้งเริ่มเห็นผลงานที่ดีขึ้นอย่างมากจากการบริหารจัดการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย และสร้างเสริม Synergy ระหว่างธุรกิจ
โดยมีธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขายรวม 2,471.90 ล้านบาท หรือลดลง 0.3% จากปีก่อน แม้ว่าบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด จะได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศลดลงจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
อย่างไรก็ตามบริษัทได้รับประโยชน์จากยอดขายของบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคในยุควิถีใหม่(New Normal) ที่นิยมสั่งอาหารแบบจัดส่งถึงที่ (Delivery)หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น อีกทั้งได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ในปีบัญชีนี้บริษัทมีรายได้อื่นที่ 158.50 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทย่อยตั้งอยู่ ภายใต้โครงการสนับสนุนการจ้างงานของกิจการ(Jobs Keeper Program)ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
โดยบริษัทมีต้นทุนขายสินค้าลดลง9.1% จากปีก่อน โดยได้รับผลประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และการบริหารจัดการให้ต้นทุนในการผลิตลดลง มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 6% จากปีก่อน ซึ่งบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมการบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า 92.60 ล้านบาท ลดลง 27% เนื่องจากบริษัทได้รับส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2563/64 (1 เม.ย. -30 มิ.ย.63) จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าฟื้นตัวต่อเนื่องภายในปีบัญชีจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น
ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.19 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 532ล้านบาทซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2564 ในวันที่ 23 ก.ค. 2564 และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date)ในวันที่ 4 ส.ค. 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 20 ส.ค. 2564
“ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9ธ.ค. 2563 บริษัท ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.19 บาทต่อหุ้น จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.28 บาทต่อหุ้น” รศ.ดร.เฉลียวกล่าว