ตลท.เอาด้วยกับ ก.ล.ต.ติดไซเลนต์หุ้นจอง 15 วัน
"เกศรา" หนุน ก.ล.ต. ให้ลีดอันเดอร์ไรท์ที่ร่วมขายหุ้น IPO ติดไซเลนต์หุ้นจอง 15 วัน พร้อมออกบทวิเคราะห์หุ้นที่จะเสนอขายเป็นรายไตรมาสติดต่อกันอย่างน้อย 4 ไตรมาส
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะให้แกนนำผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Lead Underwriter) ที่มีส่วนการกำหนดราคาหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต้องออกบทวิเคราะห์หุ้น IPO ที่เสนอขายเป็นรายไตรมาสติดต่อกันอย่างน้อย 4 ไตรมาส ภายใน 90 วัน หลังปิดการเสนอขายหรือวันที่จัดหาหุ้น ส่วนเกินได้ครบ
โดยมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน เพื่อที่จะให้ข้อมูลผู้ลงทุนได้มากยิ่งขึ้น และได้ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ที่จะเปิดเผยข้อมูลบริษัทให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการทำบทวิเคราะห์ออกมาบ้าง
โดยการกำหนดให้มีการจัดทำบทวิเคราะห์นั้น เนื่องจากปัจจุบันพบว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีบทวิเคราะห์ที่จัดทำโดยบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้จัดจำหน่ายฯ ทำให้ผู้ลงทุนไม่มีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจซื้อขายหุ้นดังกล่าว หรือไม่สามารถตัดสินใจลงทุนได้เหมาะสมกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนของตนเอง หรืออาจขาดโอกาสในการลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพ
ขณะที่การกำหนดระยะเวลาห้ามขาย (silent period) ของหุ้น IPO เป็นเวลา 15 วันนั้น เพื่อลดโอกาสเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการให้หลักทรัพย์แก่ผู้จัดจำหน่ายฯ ผู้บริหาร พนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้มีแรงจูงใจในการแนะนำให้ลูกค้าซื้อ และให้บุคคลดังกล่าวสามารถขายทำกำไรในช่วงแรกที่หลักทรัพย์เข้าซื้อขายในตลาด ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ขายหลักทรัพย์ได้ถ้าถือครองหลักทรัพย์นั้นมาก่อนเป็นเวลานานเกินกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สอดคล้องกับการทำหน้าที่เป็น FA หรือผู้จัดจำหน่ายฯ ได้ แต่จำนวนหลักทรัพย์ที่ขายรวมแล้วต้องไม่เกิน 1% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่ได้ยื่นขออนุญาตเสนอขายต่อสำนักงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณการซื้อขายหรือราคาของหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาต้องห้ามดังกล่าว
ด้านนายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า กรณีที่ก.ล.ต. รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการห้ามผู้จัดจำหน่ายขายหุ้น IPO ภายในระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้น ยืนยันว่าทางผู้บริหารของบริษัทผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะไม่ได้รับสิทธิการจองซื้อหุ้น IPO ของลูกค้าอย่างแน่นอน และไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง นับตั้งแต่วันที่เริ่มเป็นลูกค้า
“เราก็คงต้องรอดูรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน แต่ทางบริษัทหลักทรัพย์เองก็ไม่มีกฏให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหุ้น IPO เข้ามามีส่วนร่วมในหุ้นของลูกค้า”นายชาญชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่ ก.ล.ต. จะออกกฏเกณฑ์ให้ Lead Underwriter ต้องออกบทวิเคราะห์หุ้น IPO ที่เสนอขายเป็นรายไตรมาสติดต่อกัน 4 ไตรมาส บริษัทถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและไม่มีปัญหา พร้อมที่จะทำตามกฏเกณฑ์
ด้านนางสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ในปี 59-60 บริษัทมีดีล IPO ที่เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 5-6 บริษัท ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ(mai) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) รวมถึงงานที่ปรึกษาทางด้านการควบรวมกิจการ(M&A) อีกจำนวน 3 ดีล ซึ่งเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในธุรกิจพลังงาน มีเดีย และอาหาร ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทไม่มีดีล IPO ที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ