FORTH พุ่งกระฉูด 18% “ออล์ไทม์ไฮ” ลุ้น Q2 โตต่อเนื่อง-ปักธงปีนี้รายได้แตะ 8 พันลบ.
FORTH พุ่งกระฉูด 18% “ออล์ไทม์ไฮ” ลุ้น Q2 โตต่อเนื่อง-ปีนี้รายได้แตะ 8 พันลบ. หลังตุน Backlog หนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ณ เวลา 10.45 น. อยู่ที่ระดับ 11.40 บาท บวก 1.75 บาท หรือ 18.13% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 162.76 ล้านบาท ราคาหุ้นสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดฯเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2549
สำหรับ FORTH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีกำไรสุทธิ 184.22 ล้านบาท เพิ่มขึน 153.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 72.68 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทมีรายได้รวมสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 1,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 401 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมสำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 1,572 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจอีเอ็มเอส และธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์โซลูชั่นส์ อย่างไรก็ตามคาดว่าผลงานไตรมาส 2/2564 จะสดใสต่อเนื่องตามแผนธุรกิจโดดเด่น
โดยก่อนหน้านี้นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร FORTH เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตแตะ 8,000-8,300 ล้านบาท จากปี 63 ที่คาดมีรายได้ 6,500-6,700 ล้านบาท ซึ่งจะผลักดันกำไรสุทธิให้เติบโตได้มากกว่าปีก่อน หลักมาจากธุรกิจ เอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่นส์ ที่คาดจะมีรายได้ราว 3,000 ล้านบาท จาก 1,900-2,000 ล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ราว 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้ 3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาทจะรับรู้ในปีถัดไป
สำหรับงานในมือที่เป็นงานหลักของบริษัท ประกอบด้วย งาน Electronic Monitoring (EM) (งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว) ของกรมคุมประพฤติ มูลค่า 850 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารับรู้รายได้ไปแล้ว 2 เดือน และปีนี้จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี รวมถึงงานระบบสื่อสารวิทยุเฉพาะกิจระบบดิจิทัล (Digital Trunked Radio System) ของกรมการปกครอง มูลค่าสัญญา 787.33 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการตามสัญญาจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ม.ค.66 ซึ่งบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/64 ทำในปีนี้จะมีรายได้จากงานดังล่าวราว 800 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเตรียมเข้าประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีกกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานภาครัฐ เช่น งาน EM เฟส 2 จำนวน 30,000 เครื่อง อย่างไรก็ตามบริษัทก็คาดหวังว่าจะได้รับงานดังกล่าวราว 3,000-4,000 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจอีเอ็มเอส ซึ่งเป็นการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20-30% เป็นไปตามการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมียอดขายเติบโตไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และงานของโรงงาน ก็คาดหวังว่าหากสามารถเดินทางได้ลูกค้าก็น่าจะกลับเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าจะยังมีทิศทางที่ดีและไม่น่าแย่กว่าปี 63
ขณะที่ธุรกิจสมาร์ท เซอร์วิส (ตู้เติมเงินบุญเติม) ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ไว้ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 63 ที่น่าจะมีรายได้อยู่ราว 3,000 ล้านบาท โดยจะหันไปมุ่งเน้นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ และการโอนเงิน ที่จะมีการเปิดให้บริการในปีนี้ เช่น ตู้เอทีเอ็ม, ตู้น้ำมัน เป็นต้น ส่วนยอดเติมเงินผ่านตู้เติมเงินบุญเติมคาดว่าน่าจะทรงตัว ตามภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะเดียวกันก็มีแผนขยายตู้ขายกาแฟสด ราว 1,000-2,000 ตู้ ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายตู้เติมเงินและบริการผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน โดยการขยายตู้ดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้ธุรกิจนี้เติบโตได้
“ปีนี้เราตั้งป้ารายได้จะเติบโตแตะระดับ 8,000 ล้านบาท โดยหลักจะมาจากธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่นส์ รองลงมาก็จะเป็นบุญเติม และอีเอ็มเอส บวกเข้ามาอย่างละหน่อย ส่วนของกำไรสุทธิก็คาดว่าจะเติบโตดีกว่าปีก่อน บนสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีความยืดเยื้อ” นายชัชวิน กล่าว
สำหรับงบลงทุนในปีนี้ตั้งไว้ที่ราว 700 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตู้กาแฟสด คาดใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท และการสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน จำนวน 300 ล้านบาท โดยจะมาจากเงินที่ได้จากการดำเนินงานและเงินกู้สถาบันการเงิน
ส่วนธุรกิจใหม่ ธุรกิจโรงซ่อมเครื่องบิน อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท FORTH MRO ที่บริษัทได้ร่วมมือกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ซึ่งในปีนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุน โดยจะยังไม่มีการรับรู้รายได้ใด ๆ ขณะที่คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างโรงซ่อมเครื่องบินประมาณ 1 ปี
ด้านการขายเครื่องบิน ที่บริษัทเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องบิน KODIAK ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีนี้บริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ และไม่ได้นับรวมกับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันน่าจะกระทบกับการตัดสินใจซื้อเครื่องบิน หรือชะลอออกไปอีกสักระยะหนึ่ง