สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 23 ก.ย.58
– เงินเยนอยู่ที่ 119.85/91 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 119.85/91 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ 1.1170/21 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1170/1121 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,375.17 จุด ลดลง 4.15 จุด หรือ 0.30% มูลค่าการซื้อขาย 33,596.33 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 4,897.29 ล้านบาท (SET+MAI)
– นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง คาดว่าจะสามารถสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะเสนอให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมด้วย
– นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือน ส.ค.58 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 61,991 คัน ลดลง 9.9%
– ตลาดจับตาดูการกล่าวสุนทรพจน์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในวันพฤหัสบดีที่เมืองแอมเฮิร์สท์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ในหัวข้อ “พลวัตเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน(Inflation Dynamics and Monetary Policy)” ซึ่งอาจตอกย้ำให้ทุกฝ่ายรู้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ในปีนี้ หรือเลื่อนระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นปีหน้า แม้ก่อนหน้านี้นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา ระบุยังคงหวังว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังเศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น
– นายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษกล่าวว่า อังกฤษมีแนวโน้มที่จะยกเลิกการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ยังคงส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า โดยรายงานการประชุมระบุว่า กรรมการ BoE เห็นพ้องกันว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และภาวะปั่นป่วนในตลาดการเงินทั่วโลกยังไม่ได้ทำให้มุมมองของเศรษฐกิจอังกฤษเปลี่ยนแปลงไป
– ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย(AIIB) มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาร่วมกันมากกว่าจะเป็นการแสวงหาอิทธิพล
– สำนักงานสถิติมาเลเซีย เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค.ปรับตัวขึ้น 3.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 3.0% แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 3.3% ในเดือน ก.ค. โดยการเพิ่มขึ้นของ CPI เดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากราคาที่สูงขึ้นในภาคที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่นๆ แต่หากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI เดือน ส.ค.ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
– ทางการสิงคโปร์เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค.ปรับตัวลดลง 0.8% เทียบรายปี โดยหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.5% และปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน หลังต้นทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการขนส่งปรับตัวลดลง
– นายจอร์จ ออสบอร์น รมว.คลังของอังกฤษ ระบุมีแนวโน้มที่จะยกเลิกการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน หลังได้รับสัญญาณจากผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) ซึ่งจะทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีความชัดเจน
– ยูบีเอสคาดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกงปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1% ในปีหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 ถึงแม้ฮ่องกงจะเป็นประตูสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่มองหาโอกาสในการทำธุรกิจ เพราะฮ่องกงมีเศรษฐกิจแบบเปิดและมีการผลิตเพียงเล็กน้อยจะประสบกับภาวะขาลงที่ยาวนานเนื่องจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ภาคการเงินซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สดใสของฮ่องกงยังไม่สามารถผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจได้
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์