รัฐผุดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” เอื้อผู้ประกอบการร้านอาหาร เสริมสภาพคล่องธุรกิจ

รัฐผุดโครงการ "จับคู่กู้เงิน" ดึงสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร หวังเสริมสภาพคล่องธุรกิจลดการปลดลูกจ้าง


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในรูปแบบต่างๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยอด ณ วันที่ 31 พ.ค.64 อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 20,839 ล้านบาท และในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย. 2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” โดยเป็นการประสานสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารและภัตตาคารที่มีอยู่กว่าแสนแห่งทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ เช่นดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้ร้านอาหารเข้าถึงสภาพคล่อง ต่อลมหายใจให้ดำเนินธุรกิจต่อไปโดยไม่ต้องปลดลูกจ้าง

สำหรับสถานการณ์การจ้างงานแรงงานในระบบว่า ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขผู้ประกันตนที่ว่างงานในแต่ละเดือนลดลงต่อเนื่องนับจากต้นปี 2564 กล่าวคือ เดือนม.ค. 2564 มี 95,213 ราย และเม.ย. 2564 มี 49,277 ราย และ ณ วันที่ 19 พ.ค. 2564 มี 12,451 ราย ในขณะที่มีผู้ประกันตนรายใหม่เพิ่มขึ้น เดือนม.ค. 2564 มี 28,174 ราย ส่วนเม.ย. 38,025 ราย และ ณ 19 พ.ค. 2564 มี 35,984 ราย อีกทั้งมีจำนวนผู้ประกันตนกลับเข้าสู่การจ้างงาน ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) รวม 2.39 แสนราย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขรวมทั้งปีของปี 63 อยู่ที่ 2.49 แสนราย

อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในการจ้างงานแรงงานในระบบ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต่อกลุ่มธุรกิจ SMEs และขนาดไมโครที่มีการจ้างงานนอกระบบอยู่มาก จึงได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น เพื่อจะได้ยังคงธุรกิจและรักษาการจ้างงานในโอกาสเดียวกัน อีกทั้งมุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับความต้องการของภาคธุรกิจควบคู่กันไป

Back to top button