“ทริสเรทติ้ง” ชี้ SAWAD เงินทุนแข็งแกร่ง-สภาพคล่องสูง คงอันดับ BBB+ แนวโน้ม Stable

"ทริสเรทติ้ง" ชี้ SAWAD สามารถดำรงสถานะทางธุรกิจ และดำเนินงานทางการเงิน มีคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ขณะที่ยังคงรักษาฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ โดยได้จัดอันดับเครดิตไว้ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับให้กับ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน (Title Loan) ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนฐานทุน ความสามารถในการก่อหนี้ และกำไรที่แข็งแรงมาก รวมถึงสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปราะบางและการแข่งขันสูง และความเสี่ยงของบริษัทจากการปล่อยกู้ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ได้แก่
1. สถานะทางการตลาดยังคงแข็งแกร่ง สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งจากการเป็นหนึ่งในผู้ประกอบรายใหญ่ในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน ของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งแม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลงในปี 2563 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 อันเป็นผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในระยะยาวทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าการขยายเครือข่ายสาขาของบริษัทจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนสาขาของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,800 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จาก 4,309 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563

โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 บริษัทได้ลงทุนร่วมกับธนาคารออมสิน (ได้รับอันดับเครดิตระดับ “AAA/Stable” จากทริสเรทติ้ง) ใน บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเดิมเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด โดยโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวที่เปลี่ยนไปจากการที่ทั้งบริษัทเองและธนาคารออมสินต่างก็ถือหุ้นในสัดส่วน 49% เท่ากันนั้น ส่งผลให้ไม่ต้องรวมบริษัทเงินสดทันใจในงบการเงินรวมของบริษัทซึ่งส่งผลให้สินเชื่อคงค้างรวมของบริษัทหดตัวลงมาอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จาก 3.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวทริสเรทติ้งเชื่อว่าความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทและธนาคารออมสินจะช่วยขยายฐานลูกค้าของบริษัทและจะรักษาสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันเอาไว้ได้

2. ฐานทุนและความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าฐานทุนและความสามารถในการก่อหนี้ที่ได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับแข็งแกร่งอย่างมากนั้นจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัท อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแรงและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวังจะช่วยส่งเสริมฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทได้ในระยะปานกลางอีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 50.9% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราส่วนที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง

สำหรับทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในระยะปานกลางจากความหลากหลายทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงก็ตาม โดยการกระจายธุรกิจไปสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงผ่านทาง บริษัท เอส ลีสซิ่ง จำกัด นั้นจะช่วยชดเชยอัตราผลตอบแทนที่มีแนวโน้มลดต่ำลงของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกันได้บางส่วน ในขณะที่การมุ่งเน้นธุรกิจนายหน้าค้าประกันยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รายได้ค่าธรรมเนียมของบริษัทในปี 2563 ได้อีกด้วย โดยรายได้ดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทางด้านค่าใช้จ่ายนั้น ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้จากการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้โดยจะมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Earnings Before Taxes to Average Risk-adjusted Assets) ระดับประมาณ 11% ในอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า

3. สถานะความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทได้ปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-value Ratio – LTV) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความต่อเนื่องของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทนั้นมีแนวโน้มที่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-performing Loan – NPL) ที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะลอยตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 4% ในเวลา 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 4.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต ทั้งนี้ บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage) อยู่ที่ระดับ 66.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งต่ำกว่าระดับของคู่แข่งโดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ระดับ 170%-300%

4. สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ ฐานทุนจากส่วนของเจ้าของที่แข็งแกร่งและการใช้เงินกู้ยืมระยะยาวเป็นแหล่งเงินทุนยังคงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนสถานะแหล่งเงินทุนของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 289% ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเนื่องจากบริษัทมีการพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นที่น้อยกว่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 เงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 9% ของเงินกู้ยืมรวมและส่วนของเจ้าของ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่ออีกจำนวนทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินหลายแห่งโดย 60% ของวงเงินดังกล่าวยังสามารถเบิกใช้ได้ ในขณะที่ความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อจัดหาเงินทุนของบริษัทยังช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วย

5. แรงกดดันจากความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินเชื่อไปในธุรกิจสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นประกันอาจสร้างแรงกดดันต่อสถานะความเสี่ยงหรือแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ถึงแม้ว่าการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันของบริษัทจะช่วยจำกัดผลขาดทุนทางด้านเครดิต

โดยทริสเรทติ้งก็มีมุมมองว่าการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้นั้นมักใช้เวลานานและอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งขนาดของสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่นั้นยังอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเครดิตได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันคิดเป็นสัดส่วน 41% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม โดยอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 48% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 โดยมีสาเหตุหลักจากการมียอดสินเชื่อคงค้างที่หดตัวจากการยุติการรวมสินเชื่อจากบริษัทเงินสดทันใจในงบการเงินรวมของบริษัท

6. สินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันยังคงเติบโตต่อไปได้แม้จะมีแรงกดดันด้านดอกเบี้ยรับ ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการายใหญ่ 3 อันดับแรกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของสินเชื่อที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13% ในปี 2563 จากระดับ 30%-40% ในปีก่อนอันเป็นผลจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกแรก แต่สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดความต้องการในการกู้ยืมเพื่อนำกระแสเงินสดมาช่วยพยุงธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนในกลุ่มเปราะบางด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันยังคงเติบโตต่อไปในระยะที่ยาวนานขึ้น

ขณะ ที่แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ทำการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันให้เหลือ 24% ต่อปี แต่อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของสินเชื่อประเภทนี้ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้าสู่ตลาดสินเชื่อมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรับของผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่หรือธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่บรรดาผู้ประกอบการพัฒนาออกมานำเสนอนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยรับที่ปรับลดลง ซึ่งสิ่งดังกล่าวน่าจะช่วยพยุงผลการดำเนินงานทางการเงินของผู้ประกอบการให้ยังคงแข็งแกร่งต่อไปได้ โดยสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้
1. ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 10%-15%
2. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 16%
3. อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับประมาณ 4%
4. อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 65%-75%

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจ ตลอดจนผลการดำเนินงานทางการเงิน และคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในขณะที่ยังคงรักษาฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่บริษัทยังคงรักษาสถานะทางธุรกิจเอาไว้โดยสัดส่วนของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันไม่มีการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทุน ความสามารถในการก่อหนี้ และสถานะในการสร้างผลกำไรของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างชัดเจนโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 8%

Back to top button