ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง “เอสซีไอ” ขาย IPO 187.50 ล้านหุ้น

ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง “บมจ.เอสซีไอ อิเลคตริค” หรือ SCI ขายหุ้นไอพีโอ 187.50 ล้านหุ้น คาดขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปีนี้ ด้านผู้บริหารหนุ่มเผยแผนบุกตลาด AEC เดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจระบบจำหน่ายไฟฟ้าและเสาส่งในลาว-เมียนมาร์ พร้อมร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทย กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ มั่นใจแนวโน้มรายได้-กำไรพุ่งกระฉูด โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินมือเก๋า จาก บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)


นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน  บริษัท เอสซีไอ อิเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่ง SCI แล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา

โดยบริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 187.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทภายหลัง IPO โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2558

ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อขออนุมัติโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าสี่ตัวเมืองในเฟสที่ 2 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ท่าแขก สะหวันนะเขต และปากเซ หลังจากได้เข้าดำเนินโครงการในเฟสแรกไปแล้ว

“ธุรกิจในกลุ่มของ SCI ถือว่ามีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ภายใต้การนำของครอบครัวพฤฒินารากร มีทีมผู้บริหารและพนักงานมีความรู้ความสามารถ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมและการควบคุมคุณภาพการผลิต จากพันธมิตร คือ AG Ajikawa Corporation (Japan) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท และมีโรงงานที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่า SCI จะเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่สร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจให้กับนักลงทุนในอนาคต”นายวิชากล่าวในที่สุด

ขณะที่นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI เปิดเผยว่า เงินที่ได้ไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ในลาว มูลค่าโครงการ 67 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการได้ประมาณไตรมาส 4/58 และลงทุนในโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในเมียนมาร์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งมีสัดส่วนลงทุนไม่น้อยกว่า 40% มูลค่าลงทุนทั้งหมด 26 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในปี 2559

“การขยายการลงทุนในลาวและเมียนมาร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายตลาดในเออีซี ที่เรามองว่าทั้งสองประเทศนี้มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ทั้งในส่วนของลาวที่มีเป้าหมายเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ขณะที่เมียนมาร์ ก็เพิ่งมีการเปิดประเทศ คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย ขนาด 45 เมกะวัตต์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดราว 3.5-3.7 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มใช้เงินทุนราวในปี 2559

สำหรับผลการดำเนินงานของ SCI ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 55-57) บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับ 1,443.67 ล้านบาท 2,175.81 ล้านบาท และ 2,808.60 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตในปี 56 จำนวน 50.71% เมื่อเทียบกับปี 55 และคิดเป็นอัตราการเติบโตในปี 57 จำนวน 29.08% เมื่อเทียบกับปี 56 ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับปี 55-57 เท่ากับ 65.29 ล้านบาท 171.29 ล้านบาท และ 326.51 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 58 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อนึ่ง SCI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ, ผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์ ภายใต้บริษัทย่อย, ธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูงและระบบจำหน่ายไฟฟ้านอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท ตาดสเลน พาวเวอร์ จำกัด(TAD) ที่สปป.ลาว ทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาด 3.2 เมกะวัตต์ให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์(COD) เมื่อต้นปี 56 ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

Back to top button