TKT พุ่งแรง 23% ชี้ยอดขายหนุนกำไร Q2 แจ่ม หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้น
TKT พุ่งแรง 23.12% แตะ 1.97 บาท นิวไฮ” ในรอบ 3 ปี 7 เดือน เชื่อนลท. เข้าเก็งกำไร หลัง ส.อ.ท. เผยยอด “ผลิต-ส่งออก” ยานยนต์ฟื้นเดือน พ.ค.64 ชี้หนุนยอดผลิตและยอดขายของบริษัทฯเพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25.มิ.ย.64) ราคาหุ้นบริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT ปิดตลาดเช้า อยู่ที่ระดับ 1.97 บาท บวกไป 0.37 บาท หรือ 23.12% ทำจุดสูงสุดอยู่ที่ 2.04 บาท และทำจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1.65 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 74.08 ล้านบาท ซึ่งทำนิวไฮในรอบ 3 ปี 7 เดือน
โดยราคาหุ้น TKT ปรับตัวขึ้นมาส่วนหนึ่งรับอานิสงส์ส่วนของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์มีการขยายตัวดีขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ว่ายอดการผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมด ที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีทั้งสิ้น 140,168 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึง 150.14% โดยมียอดขาย 55,942 คัน เพิ่มขึ้น 38.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดส่งออกเพิ่ม 165.87%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมั่นใจว่าตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่งจากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 126.01% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 193.39%
ทั้งนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานต่ำของปีที่แล้ว ที่มีการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน และห้ามจัดงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือนมีนาคม ทำให้สต็อกรถยนต์ในโชว์รูมยังมีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้บางบริษัทจึงยังไม่มีการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม แต่การผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ยังสูงกว่าเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 34.32% แต่น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 เพียง 22.70%
ส่วนยอดรวม 5 เดือน ของจำนวนรถยนต์ทั้งรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก รถกระบะ ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 710,356 คัน โดยรวมเพิ่มขึ้น 32.92%
“ในเดือนหน้าคาดว่าจะมีการทบทวนประมาณการณ์ยอดผลิตรถยนต์ใหม่อีกครั้ง หลังยอดส่งออกโตกว่าที่คาดไว้ จากเดิมเป้าการผลิตปีนี้ตั้งไว้ 1.5 ล้านคัน แต่ยังต้องติดตามการขาดแคลนชิป และโควิด-19 ในไทย โดยพบว่ามีในโรงงานผู้ผลิตชิ้นบางแห่งติดโควิด ก็อาจมีผลกระทบต่อการผลิตได้”นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 ผลิตได้ 81,284 คัน เท่ากับ 57.99% ของยอดการผลิตทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ถึง 126.01% ส่วน 5 เดือน (มกราคม – พฤษภาคม 2564 ) ผลิตเพื่อส่งออกได้ 411,663 คัน เพิ่มขึ้น 35.60% เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะและการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2564 ผลิตได้ 58,884 คัน เท่ากับ 42.01% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ถึง 193.39% ส่วน 5 เดือน (มกราคม – พฤษภาคม 2564) ผลิตได้ 298,693 คัน เพิ่มขึ้น 29.39%
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 55,942 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 38.4% ขายในประเทศสูงกว่าเพราะฐานต่ำปีที่แล้ว แต่ลดลงจากเดือนเมษายน 2564 ประมาณ 3.77% เพราะการระบาดของโควิด -19 ระลอก3 ประชาชนยังกังวลเรื่องรายได้ในอนาคตรวมทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อด้วย
ด้านการส่งออก รถยนต์สำเร็จรูป เดือนพฤษภาคม 2564 ส่งออกได้ 79,479 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ถึง 165.87% ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเพราะฐานที่ต่ำปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2564 ประมาณ 50.30% เพราะประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลียขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปีก่อน 68.3% เวียดนามขายในประเทศเพิ่มขึ้น 34.1% ญี่ปุ่นขายเพิ่มขึ้น 46.3% อินโดนีเซียขายเพิ่มขึ้น 1,443% เป็นต้น
อย่างไรก็ตามยังส่งออกน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 แค่ 16.63% มูลค่าการส่งออก 48,416.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ถึง 176.62% เมื่อประเทศคู่ค้าเริ่มมีการผลิตรถยนต์มากขึ้น จึงส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น
อนึ่งเนื่องจาก TKT เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและธุรกิจเกี่ยวกับแม่พิมพ์เพื่อการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก โดย “เป็นผู้นำตลาดของผู้ให้บริการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุณภาพและบริการโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
ดังนั้นเมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน พ.ค.2564 ก็มีโอกาสผลักดันให้ยอดขายมีการเติบโต และหนุนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 302.40 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 290.79 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 7.69 ล้านบาท หรือ 0.0323 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1.03 ล้านบาท หรือ 0.0048 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นผลจากบริษัทมียอดขายรวมเพิ่มขึ้น มาจากชิ้นส่วนพลาสติกเพิ่มขึ้น และยอดขายงานแม่พิมพ์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีการฟื้นตัวจากปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันต้นทุนขายและต้นทุนในการให้บริการลดลง