การลงทุนใน SPAC สู่ขุมทรัพย์ธุรกิจแสนล้าน (อีกครั้ง) ของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี”

การลงทุน "SPAC" ลดขั้นตอนการเข้าตลาดฯ แห่งขุมทรัพย์แสนล้าน (อีกครั้ง) ของ "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ในต่างแดนสหรัฐฯ โดยมีประมาณการอัตราเติบโตสูงถึง 46,100% (461 เท่า) ช่วงระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า


เกี่ยวกับการเข้าลงทุน และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ใน Local Bounti Corp. และ Leo Holding II Corp. ของ นาย สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ตามที่ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” รายงานวานนี้ ถือเป็นประเด็นที่ควรต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะรูปแบบการควบรวมกิจการในลักษณะที่เกิดขึ้นกำลังเป็นที่นิยมในระดับสากล

Local Bounti Corp. เป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรผักใบเขียว และต้องการจะนำธุรกิจออกสู่การลงทุนสาธารณะ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก จึงดำเนินการควบรวมกิจการกับ Leo Holdings II Corp. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนประเภทที่เรียกว่า Special Purpose Acquisition Company หรือ SPAC

SPAC คือบริษัทที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อรองรับการควบควมกิจการในอนาคต โดย SPAC เป็นเพียงบริษัทเปล่า (Blank-check Company) ที่มีเพียงเงินทุน และไม่มีธุรกิจหรือธุรกรรมใดๆ ซึ่งจุดเด่นหลักของรูปแบบ SPAC คือการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 3-6 เดือน ซึ่งแตกต่างกับการเข้า IPO แบบดั้งเดิมด้วยกระบวนการของตลาดฯ ซึ่งใช้เวลาราว 24-36 เดือน

จากการตรวจสอบ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก “เวปไซต์ statista” ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า มูลค่าการระดมทุนผ่านวิธีการนี้ในช่วงปี 2563 สูงถึง 83,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงกว่ามูลค่าระดมทุนในช่วงระหว่างปี 2553-2562 รวมกันด้วย (ปี 2562 ยอดระดมทุน 13,600 ล้านดอลลาร์) ขณะที่คาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะยังคงมียอดระดมทุนผ่าน SPAC เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับ 105,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตต่อเนื่องแบบปีต่อปีถึง 26.5%

สาเหตุที่ทำให้วงการธุรกิจหันมาสนใจรูปแบบของ SPAC ในช่วงหลังมานี้ เนื่องจากอัตราการระดมทุนเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐนั้นลดลงมาโดยตลอด ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีมานี้ ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับกระแสเงินที่ไหลเข้าไปยังตลาดทุน โดยเฉพาะระยะหลังที่ผู้คนให้ความสนใจกับการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีรายได้หลักจากการนำบริษัทต่างๆเข้าจดทะเบียนเพื่อให้หุ้นถูกนำมาเทรด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสนับสนุนให้บริษัท SPAC เหล่านี้มีตัวตน เพื่อให้บริษัทอื่นที่ต้องการควบรวม และต้องการร่นระยะเวลาการนำเข้าตลาดฯสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล

ขณะเดียวกัน บริษัทที่ควบรวมกับ SPAC จะมีข้อได้เปรียบด้านสิทธิ์การออกเสียง เพราะภายหลังควบรวม แล้ว SPAC จะให้สิทธ์กับบริษัทที่มาควบรวมมากกว่าที่จะได้รับจากการไปรวมกับบริษัทเอกชนประเภทอื่น

ขณะที่จุดเด่นอื่นสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนใน SPAC คือ ผู้ลงทุนจะได้รับสิ่งที่เรียกว่า “ยูนิต” ซึ่งหมายรวมทั้งหุ้น วอร์แรนต์ และสิทธิ์อื่นๆ (สำหรับบางบริษัท) เมื่อ SPAC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อค้นหาดีลที่น่าสนใจในการควบรวม

แต่หากเลยกำหนดแล้ว ยังดำเนินการไม่สำเร็จ SPAC ก็จะต้องปิดตัวลง และคืนเงินที่ระดมมาได้กลับไปให้กับนักลงทุน หรืออย่างไรก็ดี หาก SPAC ประกาศควบรวมกับบริษัทใดแล้ว นักลงทุนเกิดไม่เห็นด้วยกับดีลืนักลงทุนก็มีสิทธิ์ขอรับเงินคืนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ Local Bounti Corp. และ Leo Holding II Corp. ได้ชี้แจงข้อมูลและแผนการดำเนินงานของบริษัทผ่านเวปไซต์ของ U.S. Securities and Exchange Commission (SEC) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (www.sec.gov) เรื่องการควบรวมแล้ว โดยการควบรวมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำ Local Bounti Corp. ออกสู่การลงทุนของสาธารณะ โดยมีนักลงทุนชาวไทยอย่าง “นายสารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ร่วมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ควบคู่กับยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร อย่าง Cargill ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมในสหรัฐฯ รวมถึงหลายประเทศทั่วโลกด้วย

การควบรวมกิจการระหว่าง Local Bounti Corp. และ Leo Holdings II Corp. จะมีมูลค่าภายหลังการควบรวมกิจการสูงถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยสูงถึงราว 3.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ แหล่งข่าวต่างประเทศเปิดเผยว่า นายสารัชถ์ จะเข้าลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Equity ในขณะที่ Cargill เล็งให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้กับบริษัทควบรวมอีกราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเร่งการขยายกิจการ

โดย Local Bounti Corp. ที่เศรษฐีหุ้นไทยผู้ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทยอย่าง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” จะเข้าลงทุนนั้น ดำเนินธุรกิจปลูกผักสด Organic ที่มีความสดและสะอาดกว่าแบรนด์อื่นในหลายรัฐทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ระบบเทคโนโลยี Stack&Flow และการปรับแต่งพันธุกรรม (Genetics) ของแต่ละประเภทผักในระบบการปลูกแบบ Greenhouse ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกผักได้สูงกว่าฟาร์มทั่วไปถึง 150-200% และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าฟาร์มทั่วไปโดยเฉลี่ยถึง 40%

จุดแข็งของ Local Bounti Corp. คือ มีร้านค้าขายปลีกที่วางจำหน่ายสินค้าในเครือข่ายกว่า 100 สาขาทั่วทั้งสหรัฐฯ รวมถึงมีบริการขนส่งสินค้าแบบ Door-to-Door ถึงหน้าประตูบ้านลูกค้า นอกจากนี้ หากเป็นผักที่มีอายุ (Shelf Life) สั้นมากๆ เช่นใบกะเพรา บริษัทจะทำการจัดส่งทั้งต้นพร้อมกระถางเพื่อความสดมากที่สุด จึงได้ความนิยมจากผู้รักสุขภาพ ชอบทานผักสด และจับเทรนด์ด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี

Local Bounti Corp. ตั้งเป้ามีพื้นที่ฟาร์มปลูกผัก จำนวน 8 ฟาร์มภายในปี 2568 (2564F: 1 ฟาร์ม) ซึ่งจะหนุนให้เกิดรายได้ประมาณ 462 ล้านเหรียญฯ หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีประมาณการอัตราเติบโตสูงมากถึง 46,100% (461 เท่า) ในช่วงระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2564-2568

ส่วนประมาณการอัตรากำไรขั้นต้น (Forecasted Gross Profit Margin) อยู่ที่ระดับ 26% ในปี 2564 ก่อนจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64% ภายในปี 2568 ซึ่งเวลานั้นจะได้ประโยชน์จากจำนวนหน่วยผลผลิตที่มากขึ้น (Economies of Scale) อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ หลังจากระดมทุนเสร็จครบทุกกระบวนการ Local Bounti Corp. จะมีเงินสดราว 1.08 พันล้านเหรียญฯ แบ่งเป็นได้รับจาก 1) Leo Holdings III Corp. จำนวน 275 ล้านเหรียญฯ 2) Local Bounti Corp. (ผู้ถือหุ้นเดิม) จำนวน 608 ล้านเหรียญฯ และ 3) PIPE Proceeds จำนวน 125 ล้านเหรียญฯ

ขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้น ภายหลังการควบรวมแล้วเสร็จ แบ่งเป็นดังนี้ 1) ผู้ถือหุ้นเดิม Local Bounti Corp. 54.9% 2) นักลงทุนผ่าน Leo Holdings II Corp. 31% 3) PIPE 11.3% และ 4) ผ่านหุ้นกู้แปลงสภาพ 2.8%

ไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือหากนำประมาณการอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญต่างๆมาคำนวณ ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ประเมินว่ามูลค่าบริษัท (Enterprise Value) ในช่วงปี 2568 ของกิจการที่นายสารัชถ์และพันธมิตรได้เข้าไปลงทุนนั้น จะสูงถึงราว 1-1.2 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานรายได้ที่ระดับ 462 ล้านเหรียญฯ และมีอัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin ที่ระดับ 20% ซึ่งจะสร้างกำไรสุทธิได้ราว 92.4 ล้านเหรียญฯต่อปี และอ้างอิง “Multiple P/E” ที่ระดับ 40 เท่า ตามอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ในช่วง 4 ปีข้างหน้าที่ระดับ 115.3% ต่อปี (ที่มา: ทีมวิเคราะห์ “ข่าวหุ้นธุรกิจ”)

การลงทุนของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ครั้งนี้ ถือเป็นรูปแบบใหม่ที่คนทั่วโลกพูดถึงและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน การลงทุนของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มทุนไทยที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนอย่างมีนวัตกรรมและเป้าหมายที่สร้างสรรค์…การลงทุนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยง ควบคู่กับการสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อีกทั้งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดีด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นความจริง และกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ก้าวสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่…ยิ่งใหญ่กว่าที่เจ้าสัวมีชื่อทุกคนเคยจารึกไว้ในยุทธจักรธุรกิจหรือไม่ เวลาและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นจะเป็นตัวพิสูจน์

Back to top button