CPF ดีดบวก 2% จับตากำไรไตรมาส 3 โตทะลัก รับราคา “หมู” จีนพุ่งเฉียด 60%
CPF ดีดบวก 2% แตะ 26.75 บาท ลุ้นโชว์กำไรไตรมาส 3/64 โตทะลัก รับราคา “หมู” จีนพุ่งเฉียด 60% หลัง ASF ระบาดหนักทำให้เกิดภาวะเนื้อหมูขาดแคลน จนต้องนำเข้าหมูจากต่างประเทศเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ณ เวลา 10.07 น. อยู่ที่ระดับ 26.75 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.90% สูงสุดที่ระดับ 26.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 26.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 173.31 ล้านบาท
โดยวานนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รายงานข่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหมูเป็นในประเทศจีนขยับขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากราคา 12 หยวนต่อกิโลกรัม ขึ้นมาเป็น 13 หยวนต่อกิโลกรัม และพุ่งขึ้นเป็นกว่า 17 หยวนต่อกิโลกรัมในวันจันทร์ของสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนกันยายน 64 ของหมูเป็นในตลาดจีนขยับไปถึง 19 หยวนต่อกิโลกรัม เนื่องจากโรคระบาด ASF (African Swine Fever) ในปี 2561 ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ปริมาณหมูของจีนหายไปจากระบบมากกว่า 10 ล้านตัว ทำให้เกิดภาวะหมูขาดแคลน และต้องนำเข้าหมูจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการผลิตสุกรของจีนค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยกระทรวงเกษตรฯของจีนระบุว่า ผลผลิตเนื้อสุกรในไตรมาสแรกปี 2564 อยู่ที่ 13.7 ล้านตัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อปริมาณสุกรในประเทศจีน ถ้าโรคระบาด ASF สงบลงอย่างแท้จริง แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อ ASF ยังคงมีการระบาดอยู่ ก็ทำให้เกิดความตระหนกแก่เกษตรกรชาวจีน เร่งขายหมูออกมาก่อนเวลา
ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูหมูในบ้านเรา มีสถานการณ์และความเป็นไปไม่ต่างจากจีนนัก แม้โรค PRRS ที่กำลังเผชิญอยู่ จะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับ ASF แต่ความกังวลของเกษตรกรไทยก็ไม่น้อยไปกว่ากัน เราจึงได้เห็นการเทขายหมูที่ยังมีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ ได้เห็นการชำแหละแม่พันธุ์ ซึ่งอาจหมายถึงการเลิกอาชีพ เพราะต้นทุนการป้องกันโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์นั้นไม่น้อย รวมถึงได้เห็นเกษตรกรหลายรายชะลอหมูเข้าเลี้ยงเช่นเดียวกับจีน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้หมูเป็นของไทยมีราคาผันผวน
โดยแม้รัฐบาลไทยจะไม่ได้พยุงราคาเนื้อหมูช่วยเกษตรกรอย่างที่จีนทำ แต่ขณะนี้ราคาหมูไทยเริ่มขยับตัวสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน ด้วยปริมาณหมูในระบบที่ลดลง รวมถึงเกษตรกรรายเล็กที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถปรับตัวกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ค่อยๆหายไป ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจรและสามารถบริหารจัดการวัตถุดิบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับจีนเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม : จับตา CPF พุ่งแรง! รับราคา “สุกร” จีนกระฉูด หลัง ASF ระบาดฉุดเนื้อหมูขาดแคลน
ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าวทำให้เป็นที่น่าจับตาว่าผลการดำเนินงานของ CPF ในช่วงไตรมาส 3/64 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากราคาเนื้อสุกรในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจาก 12 หยวนต่อกิโลกรัม มาที่ 19 หยวนต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึง 58%