KTB-SCB ซวยซ้ำซวยซ้อน ราคาลงต่อหลังมูดี้ส์ฯจ่อปรับความน่าเชื่อถือเป็นลบ

KTB-SCB ซวยซ้ำซวยซ้อน ราคาลงต่อเนื่องหลังมูดี้ส์ฯจ่อปรับความน่าเชื่อถือเป็นลบ โดยKTB ณ เวลา 10.20 น.อยู่ที่ 16.90 บาท ลบ 0.30 บาท หรือ 1.74% มูลค่าการซื้อขาย 331.08 ล้านบาท และ SCB อยู่ที่ 136.50 บาท ลบ 3.00 บาท หรือ 2.15% มูลค่าการซื้อขาย 114.41 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น ธนาคารกรุงไทย   จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 10.20 น.อยู่ที่ 16.90 บาท ลบ 0.30 บาท หรือ 1.74% มูลค่าการซื้อขาย 331.08 ล้านบาท  

ราคาหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ณ เวลา 10.20 น.อยู่ที่ 136.50 บาท ลบ 3.00 บาท หรือ 2.15% มูลค่าการซื้อขาย 114.41 ล้านบาท  

ทั้งนี้ ราคาหุ้นทั้งสองธนาคารมีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีประเด็นตั้งหนี้สำรอง SSI เพิ่ม ขณะเดียวกันนายไซมอน เฉิน รองประธานและนักวิเคราะห์อาวุโสสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เปิดเผยว่า KTB และ SCB อาจถูกปรับความน่าเชื่อถือเป็นลบได้ หรืออาจจะมีโอกาสกว่า 50% ที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในช่วง 6 เดือนนับจากนี้

ปัจจัยที่สะท้อนด้านลบกับธนาคาร 2 แห่งนี้มาจากการตั้งสำรองหนี้จำนวนมากของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI  นั้น เพราะจะกระทบในเรื่องการหารายได้ ความสามารถในการทำกำไร และเงินทุนของธนาคาร

ทั้งนี้ แม้ทางมูดี้ส์จะคาดการณ์การขยายตัวสัดส่วนเงินทุนสำรองของทั้งสองธนาคารภายในปี 2558 โดยสามารถปรับขึ้นได้ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงและสินทรัพย์เสี่ยงที่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรตามจากกรณีหนี้เอสเอสไอส่งผลให้สัดส่วนดังกล่าวจะยังคงไม่ขยายตัวในปี 2558 นี้

การเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยุติการผลิตเหล็กที่โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ ซึ่งเป็นธุรกิจโรงถลุงเหล็กเอสเอสไอในสหราชอาณาจักร ส่งผลให้บรรดาเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ไทยพาณิชย์ และทิสโก้ ต้องตั้งสำรองหนี้ที่มีความเสี่ยงกลายเป็นหนี้สูญ มูลค่าราว 5.33 ล้านบาท โดยกรุงไทยและไทยพาณิชย์แบกรับมูลค่าหนี้อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท

มูดี้ส์ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหวิริยาสตีลอินดัสตรีถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยตกต่ำลง รวมถึงยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ที่อาจกลายเป็นหนี้ เสีย (เอ็นพีแอล) ในภาคเอกชนของไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่อาจกลายเป็นหนี้เสียในภาคส่วนเอกชนขนาดใหญ่ยังทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมของธนาคารไทยปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมูลค่าหนี้แต่ละก้อนมีขนาดใหญ่ ดังนั้นหนี้เพียงไม่กี่ก้อนที่มีปัญหาจึงเพียงพอต่อการเพิ่มต้นทุนในการกู้ ยืมทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์

มูดี้ส์ ระบุว่า แม้ภาพรวมเงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทว่าภาพรวมหนี้ในบริษัทใหญ่ของไทยยังคงยืดหยุ่นอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง

 

Back to top button