“หุ้นพลังงาน” ร่วงหนัก เซ่น WTI หลุด 70 ดอลลาร์ วิตกโควิดฉุดดีมานด์น้ำมันวูบ
“หุ้นพลังงาน” แดงทั้งกระดาน เซ่นราคาน้ำมันดิบ WTI - BRENT ร่วงหลุด 70 ดอลลาร์ วิตกสถานการณ์ “โควิด-19” ฉุดความต้องการใช้น้ำมันวูบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 10.17 น. ราคาหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อยู่ที่ระดับ 36 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 1.37% สูงสุดที่ระดับ 36.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 35.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 813.08 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC อยู่ที่ระดับ 79.75 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 0.62% สูงสุดที่ระดับ 80.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 79.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 404.45 ล้านบาท
ส่วนราคาหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC อยู่ที่ระดับ 3.60 บาท ลบ 0.06 บาท หรือ 1.64% สูงสุดที่ระดับ 3.64 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.58 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 78.68 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP อยู่ที่ระดับ 107 บาท ลบ 2.50 บาท หรือ 2.28% สูงสุดที่ระดับ 108 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 107 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 364.90 ล้านบาท
ส่วนราคาหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP อยู่ที่ระดับ 47.25 บาท ลบ 1.25 บาท หรือ 2.58% สูงสุดที่ระดับ 48 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 47.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 236.20 ล้านบาท
เช่นเดียวกับราคาหุ้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC อยู่ที่ระดับ 56.25 บาท ลบ 1 บาท หรือ 1.75% สูงสุดที่ระดับ 56.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 56.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 191.21 ล้านบาท
โดยราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงวันนี้ หลังสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 70 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 5.39 ดอลลาร์ หรือ 7.5% ปิดที่ 66.42 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2564
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 4.97 ดอลลาร์ หรือ 6.8% ปิดที่ 68.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2564
โดยกลุ่มโอเปกพลัส มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยให้ทยอยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนส.ค.ไปจนถึงเดือนธ.ค. 2564 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะเพิ่มโควต้าการผลิตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE), ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย คูเวต และอิรัก
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มโควตาจะทำให้เกณฑ์การผลิตน้ำมันขั้นต่ำของ UAE ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ระดับ 3.168 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่เกณฑ์การผลิตขั้นต่ำของซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบัน 11 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนเกณฑ์การผลิตขั้นต่ำของอิรักและคูเวตจะเพิ่มขึ้น 150,000 บาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ แถลงการณ์ของกลุ่มโอเปกพลัสยังระบุว่า นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 เกณฑ์การผลิตน้ำมันขั้นต่ำของกลุ่มโอเปกพลัสจะถูกปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 43.853 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 45.485 ล้านบาร์เรล/วัน
โดยภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้นในสหรัฐ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา โดยสหรัฐมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 30,000 รายต่อวันในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ย 11,000 รายต่อวันในเดือนมิ.ย.