BAY ชี้ศก.Q3 เข้าสู่ภาวะถดถอย! เซ่นโควิดลามภาคการผลิต-หลายกิจกรรมหยุดชะงัก
BAY ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3/64 เข้าสู่ภาวะถดถอย! อาจติดลบมากกว่าไตรมาส 2/64 เซ่นโควิดลามภาคการผลิต-หลายกิจกรรมหยุดชะงัก
ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 อ่อนแอลงจากไตรมาสแรก ผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.64 โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ในไตรมาส 2/64 อาจหดตัวจากไตรมาสแรกที่ -0.6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับไตรมาส 2/63 อาจขยายตัวได้ 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของฐานที่ติดลบหนักเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/64 เศรษฐกิจยังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มาตรการควบคุมการระบาดจึงเข้มงวดขึ้น ทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักมากขึ้น อีกทั้งการระบาดที่เริ่มแผ่ลามถึงภาคการผลิตและอาจกระทบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ เศรษฐกิจจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้และอาจจะติดลบมากกว่าในไตรมาส 2/64
ขณะที่ภาคการผลิตในไตรมาส 3/64 อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการระบาด ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือน มิ.ย.64 แม้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนบ้างเล็กน้อย (+1.2% MoM sa) แต่โดยรวมยังอ่อนแอ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน (+0.2%) โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางการส่งออก ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง
ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงเล็กน้อย จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่เติบโตในอัตราสูง (46.1%YoY) ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้การส่งออกเติบโตกระจายตัวทั้งในตลาดและหมวดสินค้า ช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้บ้างในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ
ฝ่ายวิจัยกรุงศรีฯ คาดการณ์ GDP ปีนี้จะขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 2.0%) ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด และจากแบบจำลองชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงต่ำกว่า 1,000 ราย ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนมาตรการควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจึงยังคงซบเซา ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะมีเพียง 2.1 แสนคน (เดิมคาด 3.3 แสนคน)
นอกจากนี้ อานิสงส์จากการกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ หนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยในปีนี้เติบเติบโตถึง 15% แม้ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกอาจชะลอลงบ้าง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นในช่วงปลายไตรมาส 4/64 ตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้นและการฉีดวัคซีนจำนวนมาก กอปรกับการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากการจัดหาและการกระจายวัคซีนของไทย รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือขยายตัว 1.3% จากเดิมคาด 2.3% ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาไทยลดลงจากเดิม
ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก นอกจากนี้ สศค. ยังชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 4-5% ในปี 65 แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น กอปรกับการส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ด้านเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีแนวโน้มแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 6% แต่การเติบโตยังถูกกดดันจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาและความไม่แน่นอนหลายด้าน จากประมาณการเศรษฐกิจรอบล่าสุด IMF คงตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP โลกในปี 64 ที่ 6.0% แม้จะปรับเพิ่มการขยายตัวของ GDP กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็น 5.6% (เดิม 5.1%) นำโดยสหรัฐฯเป็น 7.0% (เดิม 6.4%) และยูโรโซน 4.6% (เดิม 4.4%) แต่ปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ลงสู่ 6.3% (เดิม 6.7%) โดยเฉพาะจีนเป็น 8.1% (เดิม 8.4%)