HANA บวก 3% โบรกฯมองกำไร Q2 โตเด่น ชี้บาทอ่อนหนุนธุรกิจ Auto – สมาร์ทโฟน

HANA บวก 3% โบรกฯแนะ “ถือ” มองกำไรจากการดำเนินงานหลักไตรมาส 2 แตะ 512 ลบ. อานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนหนุนธุรกิจกลุ่ม Auto – สมาร์ทโฟน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (5 ส.ค. 2564) ราคาหุ้นบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ณ เวลา 11.52 น. อยู่ที่ระดับ 77.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท หรือ 2.65% โดยทำจุดสูงสุดที่ 78.25 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 75.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 552.72 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (4 ส.ค. 2564) โดยคาดว่าบริษัทฯจะรายงานกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core Profit) อยู่ที่ 512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อน สาเหตุที่เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน มาจากในช่วงไตรมาส 2/2563 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 ทั่วโลกที่รุนแรง กระทบต่อการส่งออกสินค้า ขณะที่เติบโตจากไตรมาสก่อนจาก (1) ประมาณการ Gross Margin ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 14.00% เทียบกับ 11.90% ของไตรมาส 1/2564 จากค่าเงินบาทอ่อนค่า

โดยค่าเฉลี่ยเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 3% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 31.33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ (2) ทางฝ่ายวิจัยประมาณการรายได้ในสกุลดอลลาร์อยู่ที่ 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเติบโตจากธุรกิจกลุ่มยานยนต์ (Auto) และ Smartphone ขณะที่ประมาณการรายได้สกุลเงินบาทอยู่ที่ 5,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน ที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า

อีกทั้งคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะได้รับผลกระทบจาก Chip Shortage ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบเล็กน้อย อย่างไรก็ตามบริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ของกำลังการผลิตรวมจากการขยายโรงงานที่อยุธยา ซึ่งจะสามารถ Run ได้ในเดือน ก.ค. 2564 ทำให้มองว่าประมาณการ Core Profit ปี 2564 ของทางฝ่ายวิจัยที่ 2,040 ล้านบาท จะสามารถทำได้โดยประมาณการครึ่งแรกปี 2564 คิดเป็น 45% ของทั้งปี

อย่างไรก็ดียังคงประมาณกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 2,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และในปี 2565 อยู่ที่ 2,456 ล้านบาm เพิ่มขึ้น 12% เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรม Semi – conductor ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วน Electronic เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมี Upside มาจากธุรกิจใหม่ทั้งในส่วนของธุรกิจ SIC ในประเทศเกาหลีใต้ และ RFID Tag ในประเทศอเมริกา โดยทางฝ่ายวิจัยคาดว่าทั้ง 2 ธุรกิจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของผลการดำเนินงานบริษัทในช่วง 2 ปี ถัดจากนี้เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยปรับราคาเป้าหมายเป็น 76.00 บาท อิงปี 2565 ค่า PER ที่ 25 เท่าจากเดิม 68.00 บาท อิงปี 2564 ค่า PER ที่ 25 เท่า โดยอดีตราคาหุ้นเคยเทรดสูงสุดที่ 21 เท่า แต่มองว่าปัจจุบันราคาหุ้นควรเทรดที่ Premium จากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงมากขึ้น โดยราคาเป้าหมายมี Upside Risk จาก Gross Margin ที่ดีกว่าคาด จากค่าเงินบาทอ่อนค่า และ product mix ที่เปลี่ยนแปลงจากสินค้า Silicon carbide (SIC) เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม power management โดยเฉพาะในธุรกิจ EV car

 

 

Back to top button