ก.ล.ต.เตรียมคลอดเกณฑ์ให้บจ.ใหม่-เก่าต้องมีผู้บริหารเซ็นรับรองงบฯ
ก.ล.ต.เตรียมคลอดเกณฑ์ให้บจ.ใหม่-เก่าต้องมีผู้บริหารเซ็นรับรองงบฯ
นายประกิด บุณยัษฐิติ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพบัญชีฯ ในการจัดทำหลักสูตรอบรมสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน และจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้จัดทำบัญชีและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน (CFO) จะต้องมีความรู้ทางบัญชีและผ่านการอบรมขั้นต่ำ เพื่อยกระดับคุณภาพรายงานทางการเงินให้มีมาตรฐานสากล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ ก.ล.ต. เตรียมประกาศให้ CEO CFO และสมุห์บัญชี เป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของรายงานทางการเงินที่นำส่งสำนักงานในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ 56-3) ตั้งแต่งบการเงินงวดปี 60 จากเดิมที่ให้กรรมการผู้มีอำนาจซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลงนาม โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะบังคับใช้ทั้งบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ซึ่งเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว
ที่ก.ล.ต.ต้องให้ CEO CFO สมุห์บัญชี เซ็นลงนามผู้จัดทำบัญชีในงบการเงิน เพราะเราอยากแก้ปัญหาของคุณภาพงบการเงินที่ไม่ดีมาจากต้นเหตุ ซึ่งมาจากการที่ผู้บริหารภายในองค์กรไม่มีความรู้ทางด้านบัญชีที่ดี เวลาลงนามในงบก็ให้ผู้มีอำนาจที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลงนาม งบก็เกิดการผิดพลาดเยอะ ตรงนี้เราก็อยากให้ผู้บริหารมีความเข้าไจเรื่องการบันทึกงบการเงิน และมีความรับผิดชอบกับงบการเงินของบริษัทมากขึ้น ทำให้เราต้องกำหนดกฏเกณฑ์นี้ออกมาซึ่งจะบังคับใช้ตั้งแต่งบปี 60 ทั้ง IPO และบริษัทที่อยู่ในตลาดฯ แต่ให้เวลาในการให้ผู้บริหารที่มีจำนวนมากผ่านการอบรมก่อนสัก 1 ปี สิ่งที่เราหันมาให้ความสำคัญ เพราะอยากให้ผู้บริหารมีความรับผิดชอบงบของบริษัท แม้ว่าบทลงโทษหากงบผิดโดยไม่เจตนาจะแค่ปรับก็ตาม
ด้านนายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สอบบัญชีในประเทศไทยยังไม่ขาดแคลน โดยจากข้อมูลพบว่าจำนวนผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาติจากก.ล.ต.มีจำนวน 170 คนเทียบกับจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่ทั้งหมด 690 บริษัท หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1 ผู้สอบบัญชีดูแล 4 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านสิงค์โปร์ 1คนดูแล 2.6 บริษัท และ มาเลเซีย 1 คนดูแล 4.4 บริษัท
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นที่มีบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถหาผู้สอบบัญชีได้ เนื่องจากผู้สอบบัญชีส่วนใหญ่เห็นความเสี่ยงของปัญหาการส่อทุจริตของงบการเงิน ส่งผลให้ผู้สอบบัญชีไม่มีความต้องการเข้ามาตวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต. มองว่า ในอนาคตจำนวนผู้สอบบัญชีจะขาดแคลนจากแนวโน้มของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งทางก.ล.ต.มีแผนเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีปีละ 30 คน ซึ่งสิ้นปี 58 จะมีผู้สอบบัญชี 186 คน และปี 60 จะมีผู้สอบบัญชี 246 คน