BGC คาดยอดขาย H2/64 ใกล้เคียงครึ่งแรก! รับดีมานด์พุ่ง-ลุยขยายตลาดสหรัฐฯ
BGC คาดยอดขาย H2/64 ใกล้เคียงครึ่งแรก รับดีมานด์พุ่ง-ลุยขยายตลาดไปสหรัฐฯ ปักธงทั้งปีแตะ 1.2 หมื่นลบ. พร้อมทุ่มงบ 2.7 พันลบ. รองรับการลงทุนปี 65-66
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะทำได้ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก แม้ว่าโดยปกติแล้วในช่วงนี้จะเป็นไฮซีซั่นที่มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ปีนี้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดขายคงทำได้ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และถ้าสถานการณ์ไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ก็คาดว่ารายได้ทั้งปีจะกลับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 62 ได้ หรืออยู่ที่ 11,000-12,000 ล้านบาท
เนื่องด้วยยังคงมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อยู่ค่อนข้างมาก แม้จะได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ หากมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง บริษัทมั่นใจว่าดีมานด์บรรจุภัณฑ์จะกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่บริษัทขยายตลาดไปยังสหรัฐฯเพิ่มเติมหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ส่งผลดีต่อยอดขายและยังเป็นตลาดที่มีมาร์จิ้นสูงด้วย โดยบริษัทวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกในปี 64 เป็น 10% ของรายได้รวม
อย่างไรก็ตาม รายได้ในปีนี้จะมีการเติบโตแน่นอน ทั้งจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว และจากการควบรวมกิจการ ในบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) และบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ซึ่งมียอดขายในปีนี้รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เสริมศักยภาพให้กับธุรกิจหลักอย่างบรรจุภัณฑ์แก้วด้วยการนำเสนอบริการแบบครบวงจร (One stop service) ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์แก้ว พร้อมฉลาก ฝา และกล่องกระดาษ ยกระดับสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
สำหรับการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ได้ชะลอการลงทุนไปก่อน เนื่องจากรอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นจึงค่อยเดินหน้าลงทุนอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้มีการวางแผนการลงทุน เพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ หลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยวางงบลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในปี 65-66 แบ่งเป็น
-การลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้ว เตาที่ 2 ของโรงงานจังหวัดราชบุรี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400 ตันต่อวัน จะเพิ่มเป็น 800 ตันต่อวัน วางงบลงทุนไว้ที่ 1,600-1,800 ล้านบาท คาดว่าต้นปี 66 จะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้
-เพิ่มกำลังการผลิตของเตาผลิตที่โรงงานปราจีนบุรี วางงบลงทุน 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ผลิตขวดสปอนเซอร์ และบริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 51% เนื่องจากครบกำหนดซ่อมแซมใหญ่ในรอบ 10-12 ปี บวกกับกำลังการผลิตที่เริ่มไม่เพียงพอ จึงมีแผนปรับขนาดเตาให้ใหญ่ขึ้น โดยวางเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 220 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 20-30% จากเดิม 180 ตันต่อวัน
-ขยายไลน์การผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนทุกรูปแบบสูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี ผ่านบริษัทย่อย บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) วางงบลงทุนที่ 176 ล้านบาท หลังมองโอกาสในการเติบโตสูง เนื่องจากมีขนาดตลาดกว่า 80,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าตลาดแก้วถึง 2 เท่า รวมถึงมีผู้เล่นน้อย และมาร์จิ้นสูง โดยคาดเริ่มการลงทุนก่อสร้างในเดือน ม.ค.65 และผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในไตรมาส 1/66
พร้อมกันนี้ภายหลังจากการขยายกำกลังการผลิตดังกล่าว บริษัทฯ คาดว่าจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตทุกโรงงานเพิ่มเป็น 3,935 ตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน ในปี 66
นายศิลปรัตน์ กล่าวว่า บริษัทจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรับมือราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยได้นำเทคโนโลยีด้านซอฟท์แวร์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการควบคุมการปล่อยพลังงานภายในเตาหลอมแก้ว เพื่อทำให้การควบคุมระดับอุณหภูมิมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น การปรับสูตรการผลิตและสัดส่วนวัตถุดิบ เช่น เศษแก้วให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเลือกใช้เชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก เช่น น้ำมันเตา น้ำมันฟีนอล ที่มีผลกระทบด้านราคาต่ำกว่าแก๊สธรรมชาติ ส่งผลต่ออัตรากำไรที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความสามารถในการแข่งขัน และนำพาให้บริษัทฯเป็นผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ระดับสากล เพื่อปูพื้นฐานไปสู่การแข่งขันเชิงรุก
ทั้งนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องกระดาษ ฟิล์มอ่อน ฉลากถุง เพื่อต่อยอดกับขวดแก้ว