BCP วางงบ 5 ปี 8.8 หมื่นลบ. ขยายพอร์ตโรงไฟฟ้า-คาดดัน BBGI เข้าตลาดต้นปีหน้า

BCP วางงบ 5 ปี 8.8 หมื่นลบ. ลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าสีเขียว-มุ่งสู่ Carbon Neutrality เตรียมดัน BBGI เข้า SET ใน Q1/65 พร้อมเล็งซื้อกิจการแหล่งน้ำมันในแถบยุโรปเหนือ


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP  เปิดเผยข้อมูลภาพรวมของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 30 ส.ค.2564 ว่า ทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของแต่ละธุรกิจยังเป็นไปในทิศทางที่ดี

โดยธุรกิจโรงกลั่น (Refinery Business) คาดว่าในไตรมาส 3/64 จะสามารถมีกำไรสต็อกน้ำมัน (Stock gain) หลังคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยที่ 60-70 เหรียญบาร์เรล/วัน รวมทั้งครึ่งปีหลังบริษัทยังใช้กำลังการกลั่นได้อย่างเต็มที่ และเพิ่มสัดส่วนการกลั่น Unconverted Oil (UCO) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลักในการผลิตน้ำมันหล่อลื่น เป็น 10% จากเดิม 5% ช่วยให้ค่าการกลั่นต่อหน่วยถูกลง และยังยืดระยะเวลาการซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่ จากเดิมประมาณทุกๆ ปีครึ่ง มาเป็น 3 ปี/ครั้ง ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยค่าการกลั่นในครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น หลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค.-ส.ค.64 และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านธุรกิจการค้าน้ำมันตั้งเป้ากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีนี้ราว 8-10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการมุ่งเน้นกลยุทธ์การขยายสัดส่วนการซื้อ-ขายน้ำมันแบบ Out-Out หรือจัดหาน้ำมันจากผู้ผลิตในต่างประเทศเพื่อจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าในต่างประเทศ

ธุรกิจการตลาด (Marketing Business) ในส่วนของสถานีบริการน้ำมันบางจาก ในครึ่งปีหลังคาดว่าปริมาณการขายน้ำมันจะลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันอากาศยาน (JET) ยังลดลงต่อเนื่อง แต่บริษัทจะมีรายได้จากการขาย UCO เพิ่มขึ้นมาทดแทน

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริการน้ำมันบางจากมีอยู่ประมาณ 1,233 แห่ง โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าจะขยายปั้มเป็น 1,310 แห่ง จุดขายก็คือแต่ละปั๊มก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเองใช้อุปกรณ์ต่างๆที่เป็นสีเขียว และล่าสุดได้เปิดตัว Food Truck ที่ปั้มศรีนครินทร์ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมและจะมีการต่อยอดและขยายไป 10 แห่งภายในสิ้นปีนี้

ส่วนธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลยอดขายโตเด่นจากการขายออนไลน์โตกว่า 90 % โดยจากยอดขายอยู่ประมาณ 10 % แต่ปัจจุบันยอดขายเกือบ 30% โดยสิ้นปีคาดว่าจะมี 800 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ 711 สาขา และเพิ่มเป็น 1,000 แห่งในปี 65

ดังนั้นบริษัทมองว่า EBITDA ของธุรกิจการตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 70% มาจากการขายน้ำมันผ่านปั๊ม และอีก 30% มาจากรายได้ขายที่ไม่ผ่านปั๊มเป็นอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำมันเครื่องและนอนออยล์ พร้อมตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้จะมี EBITDA จากการขายน้ำมันที่ 50% และ Non-retail & Non-Oil ที่ 50%

ส่วนพันธมิตร้านชานมไข่มุก DAKASI เพื่อจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันบางจากทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 2 สาขา และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 12 สาขาในปีนี้ ส่วนธุรกิจ  EV Chargers สิ้นปีก็จะมีมากกว่า 110-120 แห่ง และมีแผนต่อยอดกับการไฟฟ้าภูมิภาคประมาณ 300 แห่ง ใน 3 ปีข้างหน้า รวมถึงการขยาย Vendind Machine ด้วย ซึ่งร่วมกับโลตัส

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริการน้ำมันบางจาก 1,247 แห่ง และจะขยายเพิ่มเป็น 1,310 แห่งภายในสิ้นปีนี้ โดยปีนี้จะมีปั๊มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Unique Design Service Station) จำนวน 61 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 39 แห่ง และจะมี Food Truck ในปั๊มเพิ่มเป็น 10 แห่ง จากปัจจุบันมี 2 แห่ง

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าปีนี้จะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว ซึ่งจากปริมาณฝนตกค่อนข้างมากในช่วงไตรมาส 3-4 นี้น่าจะทำให้รายได้จากโครงการพลังงานน้ำในลาวเข้ามามากพอสมควร ขณะเดียวกันในช่วงปลายปีนี้ โรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นจะดำเนินก่อสร้างแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/64 และจะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ (COD) รวม 2 โรง ประกอบด้วย Yabuki 20 เมกะวัตต์ และ Chiba 1 กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้ามาหนุนธุรกิจโรงไฟฟ้าได้พอสมควร

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการนำบมจ. บีบีจีไอ (BBGI) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในช่วงเดือน ก.ย. นี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนใน SET ได้ในช่วงไตรมาส 1/65

ปัจจุบัน BBGI ได้ขยายธุรกิจไปสู่ B2C มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น Biobased Product ต่างๆ ที่ไม่ใช่ Biofuel หรือเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยขณะนี้ได้เริ่มนำ Astaxanthain ingredients ที่เป็นตัวช่วยลดรอยย่น มาจำหน่ายแล้วภายใต้แบรนด์ B Nature Plus และยังมีการนำ Biobased ต่อยอด เช่น น้ำยาล้างผักโดยแบคทีเรีย หรือการล้างแบบชีวภาพ

ส่วนการลงทุนใน Manus Bio Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (high value bio-based products) ด้วยเทคโนโลยีชีวนวัตกรรมกระบวนการหมักขั้นสูง และได้ตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ  Win Ingredients Co.,Ltd.s ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดย BBGI ถือหุ้นใหญ่ 51% นั้น ปัจจุบันทาง Manus Bio lnc. ก็อยู่ระหว่างเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯช่วงปลายปีนี้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำร่วมกันก็ได้จดลิขสิทธิ์ทั้งในสหรับและไทย

อย่างไรก็ตาม BBGI ตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงชีวภาพ จะมีสัดส่วน EBITDA อยู่ที่ระดับ 33% ในปี 67 และเพิ่มเป็น  50% ในปี 69

ด้านธุรกิจต้นน้ำ (Natural Resources Business) โดย OKEA ถือเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง จากราคา GAS และ น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนการผลิตทั้งจาก Gas คิดเป็น 50% และน้ำมัน 50%  อีกทั้งยังมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากแหล่งใหม่ คือ Yme ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมันหยดแรกออกจากบ่อ ประมาณ ปลายเดือนก.ย.-ต้นเดือนต.ค. นี้ ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ในจังหวะน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 5,600 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ทั้งกระแสเงินและผลประกอบการของ OKEA ปีนี้ แข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการในแหล่งอื่นในแถบทะเลเหนือ หรือนอร์เวย์เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (65-69) ไว้ที่ 88,000 ล้านบาท โดยจะเป็นในธุรกิจ BCPG 73% ซึ่งจะเป็นการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้น เพื่อเข้าสู่ Carbon neutral ให้ได้เร็วที่สุด ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องธุรกิจโรงกลั่น BBGI และธุรกิจใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

Back to top button