ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ TRUE วงเงิน 2.5 หมื่นลบ. ที่ BBB+ สะท้อนธุรกิจแข็งแกร่ง

ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ TRUE วงเงิน 2.5 หมื่นลบ. ที่ BBB+ แนวโน้ม "Stable" สะท้อนสถานะธุรกิจแข็งแกร่ง


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ “A-” โดยพิจารณาจากสถานะเครดิตของทั้งบริษัท ซึ่งเป็นผู้ออกตราสารและผู้ค้ำประกันคือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AA+” และแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง โดย KBANK เป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ในสัดส่วน 45% ของเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้มีการค้ำประกัน

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้เงินกู้และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการแข่งขันของบริษัททั้งในธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้จำนวนมากที่บริษัทกู้ยืมเพื่อใช้ลงทุนขยายโครงข่ายและชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนด นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมและผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 TRUE ยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่ยืดเยื้อจากวิกฤตการณ์โรคโควิด 19 แต่บริษัทก็มีรายได้จากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ระดับ 6.92 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจำนวน 5.35 หมื่นล้านบาทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 จำนวนลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทเติบโตมาอยู่ที่ 4.4 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 0.206 ล้านรายจากปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งสิ้นจำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปตลอดปี 2564

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของภาครัฐ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทบางส่วน โดยรายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ของบริษัทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5.4% มาอยู่ที่ระดับประมาณ 5 พันล้านบาทอันเป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมบันเทิงและการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาตลอดจนการลดการใช้จ่ายของลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม

ณ เดือนมิถุนายน 2564 ธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายของบริษัทซึ่งดำเนินงานภายใต้แบรนด์ “ทรูมูฟ เอช” มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 31.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 30.6 ล้านราย ณ ปลายปี 2563 แม้ว่าบริษัทต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แต่ ทรูมูฟ เอช ยังคงสามารถขยายฐานลูกค้าได้ทั้งในกลุ่มลูกค้าแบบเติมเงินและแบบรายเดือนอีกทั้งยังคงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยเป็นผู้ให้บริการสื่อสารแบบไร้สายขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านของจำนวนลูกค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33.7%

ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช สร้างรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ระดับ 4.01 หมื่นล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้ต่อเลขหมาย (Average Revenue Per User  ARPU) มีทิศทางที่ลดลงตามสภาวการณ์ของอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าแบบเติมเงิน โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 209 บาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จากระดับ 216 บาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทและมีอัตรากำไรอยู่ที่ระดับ 43% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 40% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากมาตรการควบคุมต้นทุนของบริษัท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายที่ลดลง และประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 2.04 หมื่นล้านบาท

อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่สถานะความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับประมาณ 2.53 แสนล้านบาทและมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ประมาณ 4.16 แสนล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 82% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 7 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 9.6%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากงบประมาณใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการลงทุนโครงข่ายสื่อสารและการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในระยะ 3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวซึ่งมีภาระการจ่ายชำระสูงสุดในปีที่แล้วกำลังค่อย ๆ ลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้าอีกด้วย

ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินของบริษัทย่อยในสัดส่วน 48% ของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทและหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งระดับหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนนั้นต่ำกว่าระดับ 50% ที่กำหนดไว้ใน “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้ในลำดับชั้นที่อยู่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดและมีผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจหลักที่น่าพอใจต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทต่ำกว่าระดับ 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรและมีโครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทยังมีคดีความอีกบางส่วนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาตัดสิน ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีสาระสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

Back to top button