BMCL-CK เฮ! ครม. ไฟเขียวเอกชนเจ้าเดิมได้สิทธิเดินรถ-ซ่อมอู่

ครม. ยกเลิกมติเดิมในการคัดเลือกการประมูลเดินรถสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยจะให้ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" หาเอกชนร่วมงานแทน


พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงเตาปูน-ท่าพระ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

“กฏหมายเดิมชี้นำไปในการประมูลอย่างเดียว แต่ตอนนี้โครงสร้างการขนส่งเปลี่ยนไป และถ้ามีหลายเจ้ามาดำเนินการจะต้องมีการซ่อมบำรุง มีอู่คนละกลุ่มงานกัน ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลนี้จะยึดประชาชนได้ประโยชน์ โดยที่ประชาชนต้องสะดวก ขณะที่รัฐต้องประหยัดการลงทุน” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะเป็นผู้พิจารณา ตามที่คณะกรรมการฯเห็นว่าเหมาะสม

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอในการยุติการดำเนินการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และเตาปูน-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม.ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ซึ่งเป็นไปมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2553

โดยให้รฟม.ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 56 เนื่องจากเห็นว่า มติครม.เดิมเมื่อปี 2553 ที่เห็นชอบให้เอกชนลงทุนในรูปแบบ PPP -Gross Cost (รัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาสภาพการเดินทางในกรุงเทพฯเปลี่ยนไป โดยโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนได้เปิดให้บริการเพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้โดยสารแต่ละเส้นทางมากขึ้น รถไฟฟ้า MRT และ BTS มีการเชื่อมต่อกัน ซึ่งทำให้เอกชนไม่ต้องรับความเสี่ยงมากนัก

ทั้งนี้หลังจาก ครม.เห็นชอบการเปลี่ยนมาใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 แล้วจะมี 5 ขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ

1. กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์ การทบทวนรูปแบบการลงทุนระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจาก รูปแบบ PPP -Gross Cost เปลี่ยนเป็นรูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทาน โดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) เพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน 

2. สคร.เสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสมคิด เป็นประธาน

3. คณะกรรมการ PPP พิจารณา

4. หากคณะกรรมการ PPP เห็นชอบรูปแบบ PPP-Net Cost จะตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 เพื่อยกร่าง TOR และเสนอวิธีการคัดเลือกเอกชนต่อคณะกรรมการ PPP ซึ่งเมื่อคณะกรรมการ.มาตรา 35 ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น ตามหลักกฎหมายจะต้องเปิดประกวดราคา แต่หากมีความเห็นเป็นอย่างอื่น เช่น ใช้การเจรจา จะต้องเสนอคณะกรรมการ PPP เห็นชอบก่อน

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ PPP ไม่เห็นด้วยกับการใช้รูปแบบ PPP-Net Cost ก็จะต้องถือว่าเป็นที่สิ้นสุด และรฟม.ต้องเดินหน้าตามนั้น ส่วนวิธีการคัดเลือกเอกชน ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ระบุให้ใช้การประกวดราคา ยกเว้นคณะกรรมการมาตรา 35 เห็นว่าควรใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่การประมูล ก็สามารถเสนอ สคร.ได้ หาก สคร.เห็นด้วยก็เดินหน้าเจรจาได้ หาก สคร.ไม่เห็นด้วยต้องเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาและถือเป็นที่สิ้นสุด ส่วนครม.จะอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อสรุปผลการคัดเลือกได้ตัวเอกชนแล้วไม่ว่าจะใช้วิธีประมูลหรือเจรจา เพื่อยกร่างสัญญาและเสนอครม.เห็นชอบ

ทั้งนี้คาดว่ามติที่ประชุม ครม. ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อบริษัทที่จะได้สิทธิในการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ,การให้บริการเดินรถไฟฟ้า และการซ่อมบำรุงรักษา อีกทั้งคาดว่าจะส่งผลให้การเปิดประมูลเกิดขึ้นได้เร็วกว่ากำหนด

ด้าน บล.ทิสโก้ คาดว่า บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เป็นบริษัทที่ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น เนื่องจากเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินรถเดิมของบริษัทจะส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง รวมทั้งส่งผลดีกับทางบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เนื่องจากคาดว่า BMCL จะว่าจ้างให้ CK เป็นผู้บริหารงานดังกล่าว

Back to top button