“สรท.” มั่นใจส่งออกปีนี้โต 12% รับตลาดต่างประเทศฟื้นตัว-โควิดคลาย
“สรท.” มั่นใจส่งออกปีนี้โต 12% จากเดิมคาดขยายตัว 10% รับตลาดต่างประเทศฟื้นตัว-โควิดคลาย
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศหลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในประเทศคลี่คลายลง
“การส่งออกในปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายตัว 10-11% ได้แน่ๆ และมีความความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวได้ถึง 12%” นายชัยชาญ กล่าว
ทั้งนี้ หากการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 10% จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 19,926 ล้านดอลลาร์ แต่หากจะให้ขยายตัว 11% จะต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 20,389 ล้านดอลลาร์ และขยายตัว 12% จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,852 ล้านดอลลาร์
ประธาน สรท.กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในเดือน ก.ค.64 มีมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.27% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 45.94% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 183.46 ล้านดอลลาร์ โดยภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.64) มีมูลค่าการส่งออกรวม 154,985.48 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.20% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 28.73% และเกินดุลการค้า 2,622.62 ล้านดอลลาร์
สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 64 เพิ่มขึ้นเป็น 10-12% ได้แก่
1.การฟื้นตัวอย่าแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก
– การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามปกติ
– ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (world PMI index) ที่คงตัวเหนือระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแข็งแกร่ง
2.ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวสูงกว่าปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัว
ขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่
1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ
– มาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดในประเทศ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลเศรษฐกิจในภาพรวม
– การติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมกระทบต่อกำลังการผลิต และค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขภายในโรงงาน (Bubble & Seal) และเครื่องมือชุดตรวจโรค (Antigen Test Kit:ATK) ค่อนข้างสูงและยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากรัฐไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนได้ จะส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตหยุดชะงักหรือไม่สามารถทำการผลิตได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อการส่งมอบสินค้าและการส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้ 10-12% ตามที่คาดการณ์ไว้
2.ปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
– ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยมีการปรับขึ้นในเกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และสหรัฐ เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) และอื่นๆ ซึ่งผู้นำเข้า/ส่งออก ต้องชำระเพิ่มเนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนระวางและตู้คอนเทนเนอร์
– ปัญหาการบริหารจัดการตู้สินค้าภายในท่าเทียบเรือ และปัญหาการล่าช้าของเรือทำให้ตู้สินค้าตึงตัว
– การปิด Meishan Island Container Terminal ของท่าเรือ Ningbo เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบให้สายเรือทำ Blank Sailing และการเปลี่ยนแปลงตารางเรือไปทำถ่ายลำที่ท่าเรืออื่นแทน ก่อให้เกิดความหนาแน่นที่ท่าเรือใกล้เคียงเพิ่มขึ้นตามมา
– การยกระดับมาตรการคุมเข้มในการตรวจหาเชื้อโควิดในต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน ที่เพิ่มระดับความเข้มงวดในการตรวจโควิดกับสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการหมุนเวียนตู้สินค้า และการส่งออกในบางรายสินค้า
– การขาดแคลนแรงงาน ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา เนื่องจากมาตรการปิดประเทศ ประกอบกับปัจจุบันจำนวนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ยังไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิตเท่าที่ควร ยิ่งซ้ำเดิมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและกระทบต่อการผลิตเพื่อการส่งออก
– ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า จากปัจจัยความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศ ส่งผลด้านลบต่อทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 และการอ่อนค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์สหรัฐ จากการที่เฟดจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ (QE Tapering) ภายในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวขึ้นในวงกว้างตามคาดการณ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณไหลเงินเข้ายังกลุ่มประเทศ Emerging market มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลการส่งออกของไทยในระยะต่อไป 6) ปริมาณปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอและต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ ปัญหาการขาดแคลนชิป สินค้าเหล็ก ผลผลิตทางการเกษตร และอาจมีแนวโน้มยังคงขาดแคลนต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2564
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 10,000 บาท/คน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) ในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ (One Time Cost)
2.สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีพนักงานบางส่วนติดเชื้อ และต้องมีการตรวจติดตามพนักงานอื่นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะ อย่างน้อย 7-14 วันต่อครั้ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพา SME รวมถึงขอให้มีการควบคุมราคาชุดตรวจ ATK ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม
3.เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครอบคลุมโดยเร็ว เพื่อช่วยให้แรงงานลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและมีรายได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยรักษากำลังซื้อของครัวเรือนทั่วประเทศและพยุงเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไป