ผู้ถือหุ้นลุยร้องต่อ หวังเร่ง “ตลท.” สอบบอร์ด “STEC-STPI” ปั่นข่าวลวง
ผู้ถือหุ้นรายย่อย “STEC-STPI” เดินหน้าร้อง “ตลท.” หลังยื่นหนังสือ เลขาธิการ ก.ล.ต. สอบ ‘บอร์ดซิโน-ไทย’ กรณีไม่เข้าซื้อกิจการ ‘STIT’ บริษัทในเครือ ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยหลงเชื่อข้อมูลอันเป็นเท็จ-บริษัทได้รับความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ก.ย. 2564) ณ เวลา 09.00 น. มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC มีการจัดประชุมขึ้นที่อาคารซิโน-ไทย อโศก คาดว่าอาจมีการพิจารณามติยกเลิกดีลซื้อหุ้น STIT ซึ่งเป็นกิจการในเครือตามที่นักลงทุนรายย่อยกำลังร้องเรียนต่อกลต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยวันเวลาเดียวกันกับ นางน้ำทิพย์ วิชชุเกรียงไกร ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ นายภานุพงศ์ คุโณปการพันธ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท เอส ที พี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI เข้ายื่นหนังสือถึงผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากเมื่อวานได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยขอให้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และเลขาธิการ ก.ล.ต. ดำเนินการสอบสวน คณะกรรมการบมจ.ซิโน-ไทย เนื่องจากกระทำการโดยทุจริตและฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จต่อผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ เนื่องจากในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2563 คณะกรรมการ STEC ได้ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อกิจการบริษัท เอส ที ไอ จำกัด (STIT) จาก STPI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ STEC โดยคณะกรรมการ STEC ได้ชี้แจงถึงข้อดีและประโยชน์ที่ ซิโน-ไทย จะได้รับจากการซื้อ STIT แต่ปรากฎว่าผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว แต่ทาง STEC ยังไม่ได้เข้าซื้อกิจการ STIT และคณะกรรมการ STEC อาจมีวาระให้ยกเลิกการซื้อกิจการดังกล่าวในเร็วๆนี้
ดังนั้น พฤติกรรมของคณะกรรมการ STEC ดังกล่าว มีความไม่โปร่งใส และมีเจตนาจงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ STEC และทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยใน STEC ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 22,700 คน และบริษัท เสียหาย จึงขอให้เลขาธิการ ก.ล.ต. ดำเนินการสอบสวน และเอาผิดขั้นสูงสุด ทั้งจำคุกและปรับ ต่อคณะกรรมการ STEC ที่กระทำการโดยทุจริต จงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว
สำหรับหนังสือร้องเรียน ระบุว่า นางน้ำทิพย์ วิชชุเกรียงไกร ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ขอร้องเรียนต่อท่านถึงพฤติกรรมและการกระทำของคณะกรรมการบริษัท ซิโน-ไทย ว่าคณะกรรมการบริษัทได้กระทำการโดยทุจริต และฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จต่อผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์ และ พ.ร.บ. บริษัท มหาชน ทำให้มีความเสียหายรวมผู้ถือหุ้นทุกคน และบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำการดังกล่าว
เนื่องจากในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ทางคณะกรรมการ STEC ได้ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ STIT จาก STPI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ STEC โดยประธานกรรมการ นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม กล่าวให้ความมั่นใจ และตอบคำถามต่อผู้ถือหุ้น ถึงข้อดีและผลดีระยะยาวของการเข้าซื้อ STIT
นอกจากนี้ นายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร ได้ชี้แจงข้อดี และประโยชน์ต่างๆ ที่ STEC จะได้รับจากการซื้อ STIT ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบ เช่น การเข้าซื้อ STIT เป็นการสนับสนุนธุรกิจของบริษัท ทำให้บริหารต้นทุนได้ดี และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี เป็นต้น ทำให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเชื่อข้อมูลดังกล่าว และเห็นว่าธุรกิจในอนาคตของบริษัทจะดียิ่งขึ้นจากการซื้อ STIT ตามที่นายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร ให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้นทุกราย
รวมทั้งความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระที่แต่งตั้งโดย STEC ว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และทำให้บริษัทมีกำไรสูงกว่าเดิม ดังนั้น ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจึงมีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ STIT
อย่างไรก็ตาม นับจนถึงวันนี้ เวลาก็ได้ล่วงเลยมาเกือบจะ 1 ปีแล้ว แต่ทาง STEC ยังไม่ได้เข้าซื้อกิจการ STIT และไม่ได้แจ้งความคืบหน้าใดๆ ให้ผู้ถือหุ้นทราบเลย ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดปกติวิสัยของการประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างมาก จนกระทั่งข้าพเจ้ามีหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการบริษัท ซิโน-ไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ซิโน-ไทย จึงได้แจ้งความคืบหน้าในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ว่า “บริษัทฯ ยังไม่ได้มีข้อตกลงใด ๆ เพื่อการลงนามเกี่ยวกับเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการ STEC อาจจะจัดประชุมขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากใกล้ที่จะอนุมัติงบไตรมาส ซึ่งอาจมีวาระให้ยกเลิกการซื้อกิจการดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมดังกล่าวของคณะกรรมการ STEC มีความไม่โปร่งใส และมีเจตนาจงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ STEC และทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STEC ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 22,700 คน และบริษัทเสียหาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อสัตย์สุจริต และขัดต่อกฎหมาย และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทุกคน (มาตรา 89/7 และ 89/18 ของพ.ร.บ. หลักทรัพย์ และมาตรา 85 ของ พ.ร.บ. บริษัท มหาชน) นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STPI ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 11,400 คน เสียหายอีกต่างหาก
สำหรับในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STEC จึงขอร้องเรียนต่อท่านเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STEC ให้ท่านดำเนินการสอบสวน และเอาผิดขั้นสูงสุด ทั้งจำคุกและปรับ ต่อคณะกรรมการ STEC ที่กระทำการโดยทุจริต จงใจฝ่าฝืนมติ และเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งส่งผลต่อราคาหุ้นของ STEC และ STPI และเป็นผลให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากหลงเชื่อข้อมูลที่เป็นเท็จ และทำการซื้อ หรือถือหุ้นของซิโน-ไทย ต่อไป เป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากและบริษัทเสียหายอย่างร้ายแรง (มาตรา 89/20, 89/21, 281/2, 240, 306, 309, 311 และ 315 ของพ.ร.บ. หลักทรัพย์)
สำหรับการกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการ STEC ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมากอีกต่างหาก นอกจากนี้ ขอให้ท่านมีคำสั่งให้ถอดถอนกรรมการทุกคนออกจากการเป็นกรรมการของ STEC และบริษัทอื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากกรรมการกระทำการโดยทุจริตและขาดคุณสมบัติที่ดีที่กรรมการบริษัทจดทะเบียนพึงจะมี (มาตรา 89/3 ของพ.ร.บ. หลักทรัพย์) เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคน ทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อยของ ซิโน-ไทย และผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STPI
นอกจากนี้ นายภานุพงศ์ คุโณปการพันธ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท เอส ที พี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ยังได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. ด้วย โดยขอให้ เลขาธิการ ก.ล.ต. ดำเนินการสอบสวน และเอาผิดขั้นสูงสุด ทั้งจำคุกและปรับ ต่อคณะกรรมการ STEC ที่กระทำการโดยทุจริต จงใจฝ่าฝืนมติ และเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป กรณี STEC ไม่เข้าซื้อกิจการ STIT ส่งผลให้ผู้ถือหุ้น STPI และบริษัทเสียหายอย่างร้ายแรง อีกยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ STPI ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก