มติเอกฉันท์! กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%  

มติเอกฉันท์! กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% พร้อมคงคาดการณ์ GDP ปี 64 ที่ 0.7% ปี 65 โต 3.9%


คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมวันนี้(29ก.ย.64) ว่า กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 และปี 65 น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ส.ค.64 แต่มองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกนง.คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 64 ที่ 0.7% แต่ปรับคาดการณ์ปี 65 เป็น 3.9%

ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 64 และปี 65 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด

ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง กนง.เห็นว่ามาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการด้านการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนง.เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.9% ในปี 64 และ 65 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือน ส.ค.64 โดยแม้ในไตรมาส 3/64 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด และการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 64

ส่วนในปี 65 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังไม่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยยังต้องติดตามแนวโน้มการระบาด และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป” เลขานุการ กนง.ระบุ

สำหรับสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลก และไทยอย่างใกล้ชิดรวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กนง.เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้าง และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาวภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

“กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น” เลขานุการ กนง.ระบุ

 

Back to top button