ก.ล.ต.เน้นดูแลโบรกฯคำนึงประโยชน์ลูกค้า-บริหารความเสี่ยงรัดกุม
ก.ล.ต. ดูแลตัวกลางในตลาดทุนให้มีการบริหารจัดการและระบบงานที่คำนึงถึงผลประโยชน์ลูกค้าและความมั่นคงของระบบโดยรวมเป็นสำคัญ มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงรัดกุม สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจและระดับความเสี่ยงของแต่ละบริษัท
นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจมีการบริหารจัดการและระบบงานที่คำนึงถึงประโยชน์ลูกค้าและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม บุคลากรมีคุณภาพและปฏิบัติงานแบบมืออาชีพ ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงรัดกุม และฐานะการเงินแข็งแกร่ง
โดยระบบงานหนึ่งที่สำคัญคือ ระบบการรับลูกค้า ซึ่งต้องรู้จักตัวตนและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ตลอดจนดูแลและจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าให้ปลอดภัย การสอบเช็คข้อมูลลูกค้าเมื่อมีการทำธุรกรรมจะทำให้มั่นใจว่าการให้บริการมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า ในขณะที่ป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ บล.ถูกใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ด้วย
ก.ล.ต.กำกับดูแล บล.โดยเน้นที่โครงสร้างการบริหาร บุคลากร และระบบงาน โดยในกรณีระบบงาน เนื่องจากแต่ละบริษัทมีรูปแบบการทำธุรกิจและระดับความเสี่ยงแตกต่างกัน ประกอบกับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแลจึงเป็นไปในลักษณะของการกำหนดหลักการและวัตถุประสงค์ และเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำ
โดยบริษัทและผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบวางนโยบายและจัดให้มีระบบติดตามดูแลการปฏิบัติงาน การบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและ ระดับความเสี่ยงของตน รวมทั้งเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งบริษัทสามารถวางระบบให้เข้มกว่าที่กฎเกณฑ์กำหนดได้
นอกจากนี้ ยังต้องมีระบบจัดการเรื่องร้องเรียนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บล.ยังถือเป็นด่านแรกในการรับผิดชอบติดตามดูแลการปฏิบัติงานในแต่ละวัน โดย ก.ล.ต. จะกำกับดูและสุ่มตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัทอีกชั้นหนึ่งโดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยงและผลกระทบของแต่ละบริษัทที่มีต่อระบบโดยรวม (risk-based approach) ในการตรวจสอบจะมีหลายรูปแบบ ทั้งการตรวจสอบแบบประจำตามรอบระยะเวลาที่กำหนด หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความรัดกุมในการปฏิบัติงานของบริษัท
สำหรับในเรื่องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่มีใบอนุญาตนั้น จากสถิติเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมาพบว่าเรื่องนี้มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และประมาณ 75% เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น การชักชวนให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ สินค้าเกษตร และทองคำ (gold spot) เป็นต้น ซึ่งหลายกรณีมีลักษณะเป็นการหลอกลวงและแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องก็จะส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนได้รับการชักชวน ควรตรวจสอบรายชื่อบริษัทว่าได้รับใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. หรือไม่ จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. www.sec.or.th ภายใต้หัวข้อ License Check และ Investor Alert และหากพบว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือทำธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้แจ้งเบาะแสมาที่ ก.ล.ต. โทร. 1207 เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป”