ทริสฯ ให้เครดิตหุ้นกู้ TRUE วงเงิน 7,480 ลบ.ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ทริสฯ ให้เครดิตหุ้นกู้ TRUE วงเงิน 7,480 ลบ.ที่ "A-" แนวโน้ม "Stable"


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีการค้ำประกันบางส่วนวงเงิน 7,480 ล้านบาท ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวค้ำประกันโดยธนาคารกสิกรไทย ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะค้ำประกันการจ่ายเงินในสัดส่วน 45% ของมูลค่าหุ้นกู้ หรือในวงเงินไม่เกิน 3,366 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2558 นี้

อันดับเครดิตของ TRUE สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่มีความแข็งแกร่งทางการตลาดในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) และธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งความคาดหวังว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก รวมถึงเงินลงทุนในระดับสูงสำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรศัพท์เคลื่อนที่

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจหลักเอาไว้ได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทตกต่ำลงซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับเพิ่มสูงเกินกว่า 65% ในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง

บริษัทก่อตั้งในปี 2533 และมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่มซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจทรูออนไลน์ (TrueOnline) ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ และโทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล กลุ่มธุรกิจทรูโมบาย (True Mobile) ซึ่งให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกลุ่มธุรกิจทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) ซึ่งให้บริการช่องโทรทัศน์ดิจิตอลและโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก บริษัทมีรายได้ในครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มสร้างรายได้ให้บริษัทในสัดส่วน 24% 68% และ 8% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 55% 39% และ 6% ตามลำดับ

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่มีเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารที่หลากหลาย โดยกลุ่มธุรกิจทรูออนไลน์มีสัดส่วนทางการตลาดจากรายได้การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศประมาณ 41% บริษัทยังเป็นผู้นำในการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกด้วยรายการหลากหลายจากทั้งในและต่างประเทศ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2558 กลุ่มธุรกิจทรูวิชั่นส์มีลูกค้าที่เป็นสมาชิกรวมประมาณ 2.7 ล้านราย อีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ของประเทศด้วย ส่วนกลุ่มทรูโมบายมีสัดส่วนรายได้ทางการตลาดจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ประมาณ 19% ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายถือหุ้นของบริษัท 51% ตามด้วย China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอยู่ที่ 18% โดย China Mobile เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฐานลูกค้าใหญ่ที่สุดในโลก

บริษัทมีรายได้ 10.92 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และ 5.71 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งหากไม่รวมรายได้จากการที่บริษัทส่งมอบเสาโทรคมนาคมให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) มูลค่า 6 พันล้านบาทในปี 2557 และ 3 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2558 ตามลำดับแล้ว รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 7.3% ในปี 2557 และ 9.5% ในครึ่งแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นจากต้นทุนจากส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory Cost) ที่ลดลง และการสิ้นสุดการบันทึกค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์โครงข่าย 2G โดยอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 16.7% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 24.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558

ในช่วงปี 2557-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.15 หมื่นล้านบาทถึง 1.29 แสนล้านบาทต่อปี หรือเติบโตประมาณ ปีละ 2%-5% โดยรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและบริการด้านข้อมูลในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก อัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ทซ์ในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งจะทำให้ความได้เปรียบของบริษัทในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G LTE (Long Term Evolution) ลดลง ทั้งนี้ บริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ประมาณ 1.9-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2561

การขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทในช่วงปลายปี 2557 ช่วยสนับสนุนฐานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของโครงสร้างเงินทุนและความยืดหยุ่นทางการเงิน โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 94% ก่อนการเพิ่มทุนมาอยู่ที่ระดับ 55% หลังการเพิ่มทุน หากไม่รวมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ทซ์แล้ว บริษัทมีแผนลงทุนซึ่งรวมถึงค่าใบอนุญาต 3G คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ทซ์ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2558 และมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2559-2561

ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีความจำเป็นต้องลงทุนขยายโครงข่าย 4G และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง หากบริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 หรือ 900 เมกะเฮิร์ทซ์ ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนก็จะสูงขึ้นมากในปี 2559 โดยขึ้นอยู่กับมูลค่าของใบอนุญาตที่ประมูลได้ บริษัทต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเพื่อสนับสนุนการลงทุนและจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นจาก 55% ณ เดือนมิถุนายน 2558 ไปอยู่ที่ประมาณ 60%

Back to top button