รมว.พลังงาน เดินหน้าแนวทางจัดการสัมปทานปิโตรเลียม-โครงการพลังงานทดแทน
รมว.พลังงาน เดินหน้าแนวทางจัดการสัมปทานปิโตรเลียม-เร่งรัดโครงการพลังงานทดแทน
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า จากนี้ไปจนถึงปี 2559 ที่กำลังจะถึงจะมีนโยบายสำคัญๆ ที่พร้อมจะดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของประเทศ หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint 2558 – 2579 ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนที่สำคัญ และแต่ละแผนฯ จะมีแนวทางดำเนินการที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเวลา 1 ปีนี้ ได้แก่
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ PDP2015โครงการที่สำคัญ อาทิ การรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน จากโครงการโรงไฟฟ้าหงสาเครื่องที่ 3 ที่จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าได้ 491 เมกะวัตต์ รวมไปถึงแนวทางการจัดการการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ที่กระทรวงพลังงานพร้อมจะเร่งทำความเข้าใจและผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
2. แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (Energy Efficiency Plan; EEP 2015) จะมีโครงการสำคัญ อาทิ แนวทางจัดการอาคาร/โรงงานควบคุม 11,662 แห่ง เริ่มมีการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบ และเริ่มใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบรายงานการจัดการพลังงาน มาตรการด้านขนส่ง เริ่มใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ตามการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP 2015) โครงการสำคัญ อาทิ เร่งรัดโครงการพลังงานทดแทนค้างท่อประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ โครงการโซล่าร์ในหน่วยงานราชการ/สหกรณ์ การออกมาตรฐานไบโอดีเซล B10 การผลักดันการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CGB จากน้ำเสียโรงงาน เป็นต้น
4. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2558–2579 (Oil Plan 2015) โครงการสำคัญ อาทิ ความชัดเจนในการปรับภาษีสรรพสามิต LPG เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การทยอยปรับราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ให้ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 95 การสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงแนวทางการขนส่งน้ำมันทางท่อ เป็นต้น และ 5. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติระยะยาว พ.ศ.2558 – 2579 (Gas Plan2015) โครงการสำคัญ อาทิ ความชัดเจนด้านการเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แนวทางการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุ การจัดการโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน รอบ 1 ปีที่ผ่านมา ( วันที่ 12 ก.ย. 2557– วันที่ 12ก.ย. 2558) ผลงานที่สำคัญของกระทรวงพลังงาน ได้แก่ การแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน
โดยเฉพาะโครงสร้างราคาพลังงานที่บิดเบือน ซึ่งส่งผลปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบเกือบ 7,000 ล้านบาท แต่ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา ได้ทยอยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ซึ่งผลจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกประเภทสามารถสะท้อนต้นทุนราคาที่แท้จริง ส่งผลให้สามารถสะสางหนี้จนหมด และสามารถเก็บเงินสะสมเข้ากองทุนน้ำมันได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานที่โดดเด่น ยังสามารถแบ่งการดำเนินงานได้เป็น4 เรื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่
1. การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนได้ทยอยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ รวมทั้งได้ปลดล็อกอุปสรรคการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยการผลักดันการแก้กฎระเบียบและกระบวนการออกใบอนุญาตให้มีความรวดเร็ว อาทิ การออกใบอนุญาตตามกฎหมายโรงงาน (รง.4) อนุมัติให้ย้ายสถานที่ติดตั้งโซลาฟาร์มกรณีติดปัญหาสายส่งส่งผลให้กระทรวงพลังงานสามารถอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมาก โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาได้อนุมัติโครงการพลังงานทดแทนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 269 โครงการ ปริมาณรวม 1,597.02 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในการส่งเสริมพลังงานทดแทน
2. การส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (Thailand Integrated Energy Blueprint) เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินนโยบายทางด้านพลังงานของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว
3. การกำกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงปัจจุบัน และการแสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศเกิดการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกใหม่ คือ แหล่งดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งประกอบด้วยหลุมผลิตดงมูล 3ST และหลุมผลิตดงมูล 5 โดยคาดว่าจะมีปริมาณสำรองเบื้องต้นประมาณ 35,000 และ 50,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามลำดับ โดยมีแผนจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในระยะเวลา 15 ปี โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังสำรวจพบน้ำมันดิบเพิ่มเติมในแหล่งวาสนาในอ่าวไทยและเริ่มดำเนินการผลิตปิโตรเลียมครั้งแรก โดยคาดว่ามีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 19.5 ล้านบาร์เรล และสามารถผลิตน้ำมันดิบได้สูงสุดประมาณ 10,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมีระยะเวลาการผลิตประมาณ 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ประมาณปีละ 1,300 ล้านบาทต่อปี
4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเห็นชอบโครงการลงทุนโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะที่ 1 (ปี 2558-2562) วงเงินลงทุน 13,900 ล้านบาทซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุงแท่นผลิต อุปกรณ์ และระบบท่อส่งก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าขนอมใหม่ ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลเชื่อมแหล่งอุบล (อ่าวไทย) และสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ บนระบบท่อส่งก๊าซวังน้อย-แก่งคอย ต่อมาได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 เห็นชอบโครงการลงทุนโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 (ปี 2558-2564) วงเงินลงทุน 117,100 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 5 จากระยองไปไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ และระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ราชบุรี- วังน้อย ที่ 9 ไปจังหวัดราชบุรี