KBANK คาดเงินบาทไตรมาส 4 อ่อนค่าแตะ 34 บ. ต่ำสุดรอบ 4 ปี
KBANK คาดเงินบาทไตรมาส 4 อ่อนค่าแตะ 34 บาท/ดอลลาร์ ต่ำสุดรอบ 4 ปี แต่คงเป้ายืนระดับ 32.75 บ. ก่อนสิ้นปี จากเฟดลด QE
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยถึงทิศทางค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4/64 ว่า กรอบเงินบาทที่เหมาะสมไว้ที่ 32.40 – 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี หรือตั้งแต่เดือน ก.ค. 60 จากที่ก่อนหน้านี้ เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป
โดยมองว่ามีปัจจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าแทรกแซงเงินบาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออก และผู้นำเข้า ซึ่งเชื่อว่า ธปท. ได้เข้ามาดูแลค่าเงินบาท เพื่อที่จะไม่ให้เงินบาทมีความผันผวนมากจนเกินไป
ขณะที่ยังคงเป้าหมายค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มลด QE ภายในพ.ย. โดยหลังจากการรับข่าวการลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการปรับฐานในตลาดการเงิน ซึ่งน่าจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ก่อนสิ้นปี
สำหรับภาพรวม GDP ของประเทศไทยในปี 64 ยังคงคาดเติบโตที่ 0.5% โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/64 มองว่าเป็นช่วงไตรมาสที่แย่ที่สุด ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่า GDP จะหดตัวลง 4.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 และหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 3.5%
แต่อย่างไรก็ตาม จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/64 ที่ 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/64 แต่หดตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจพยายามปรับไปสู่ภาพรวมที่มีศักยภาพที่มากขึ้น ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลา
โดยส่วนใหญ่คาดหวังจะได้รับปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว ซึ่งต้องติดตามการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่รัฐบาลประกาศจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. นี้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังมีความเสี่ยงการระบาดรอบใหม่ และต่างประเทศจะเดินทางท่องเที่ยวแล้วหรือไม่ ประกอบกับยังมีปัญหาเรื่องค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ด้านบริการ และราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น โดยมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอยในรอบ 12 เดือนข้างหน้าสูงขึ้น โอกาสตอนนี้มีมากขึ้น 30% จากก่อนหน้านี้ 22%
“เราต้องติดตามว่า การเปิดประเทศจะสามารถดำเนินได้ตามแผนหรือไม่ หากเป็นไปได้ด้วยดี นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย และหนุนให้กิจการในประเทศกลับมาดำเนินกิจการได้มากขึ้น หนุนให้ประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน มีรายได้มากขึ้น สุดท้ายก็จะมากระทบยังดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง และอาจเริ่มสมดุลมากขึ้นในปีหน้า จะสนับสนุนค่าเงินบาทให้ฟื้นกลับมา” นายกอบสิทธิ์ กล่าว