“กกร.” ปรับ GDP ปีนี้โตแตะ 0.5-1.5% เปิดประเทศ-คลายล็อกดาวน์ หนุนโค้งท้าย
“กกร.” ปรับกรอบ GDP ปีนี้โตแตะ 0.5-1.5% จากเดิม 0.0-1.0% รับเปิดประเทศ-คลายล็อกดาวน์ หนุนโค้งท้าย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 64 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.5-1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.0-1.0% เนื่องจากนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.64 และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชน ช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
ส่วนการส่งออก ยังคงคาดว่ามีแนวโน้มจะขยายตัวราว 12-14% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0-1.2% ซึ่งมองว่าตัวเลขนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดซ้ำเพิ่มเติมของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ประธาน กกร. กล่าวว่า การเปิดประเทศช่วยให้สถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว โดยคาดการณ์อัตราการเข้าพักที่ผู้ประกอบการโรงแรมมองว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ในเดือน พ.ย.64 เทียบกับ 15% ในเดือน ก.ย.64 ขณะที่มีการจับจ่ายใช้สอยในภูมิภาคดีขึ้น
ส่วนภาคการค้าปลีกมองว่าผ่านจุดต่ำสุดที่ไตรมาส 3 มาแล้ว สอดคล้องกับมองของนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยที่เชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ทำให้คาดการณ์ว่าภาพเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะมีความคึกคักมากขึ้น พร้อมๆ กับมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยภาคเอกชนหวังว่าภาครัฐจะเสริมด้วยมาตรการช้อปดีมีคืนให้เป็นแรงส่งเศรษฐกิจในปลายปีนี้กลับมาคึกคักมากขึ้นและต่อเนื่องไปยังปีหน้า
“โอกาสที่จะมีการล็อกดาวน์อีกคงน้อย ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันปฏิบัติตจามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” นายสนั่น กล่าว
หากภาครัฐพิจารณาผ่อนคลายและโปรโมตกิจกรรม เทศกาล ทั้งงานลอยกระทง และงานปีใหม่ได้ ก็จะเป็นตัวเสริมให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางทั้งในและต่างประเทศ โดยย้ำว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการ แพร่ระบาด
ขณะที่ภาคการผลิตของไทยยังสามารถเติบโตได้ แต่เผชิญปัญหาอุปทานตึงตัวเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ปัญหาอุปทานตึงตัวส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้ต้องชะลอการผลิตและไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากเท่ากับที่ตลาดต้องการ และส่งผลให้ราคาสินค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นราว 5% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยผู้ส่งออกยังต้องเผชิญกับต้นทุนค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์และการขาดแคลนตู้ส่งสินค้า จึงต้องติดตามภาวะต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.ยังได้หารือกันในเรื่องการอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และ นักลงทุนที่เข้าออกประเทศไทย โดยภาครัฐควรเร่งเจรจาให้มีมาตรการลดหย่อน ตอนขากลับประเทศปลายทางด้วย เพื่อจะได้ไม่โดนการกักตัวและมีค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเดินทางกลับ รวมถึงมีการสื่อสารข้อมูลที่อัพเดทและถูกต้องให้นักเดินทางด้วย ซึ่งจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยว ในปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้
ส่วนการเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ โดยความคืบหน้าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของประเทศไทย ทางภาคเอกชนได้ส่งผลการศึกษาให้ทางภาครัฐและภาคประชาสังคมไปแล้ว เพื่อเร่งให้เข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะหากช้าก็จะทำให้เสียโอกาส พร้อมกับต้องเพิ่มการเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศที่จะเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกประเทศร่วมกันรวมถึงการเตรียมความพร้อมของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า ที่ทางภาครัฐจะใช้ Biocircular Green Economy (BCG) เป็นหัวข้อในการหารือภายใต้ Theme “Open Connect Balance” ซึ่งภาคเอกชนก็เห็นถึงความสำคัญประเด็นนี้ และพร้อมที่จะร่วมจัดงานกับภาครัฐด้วย โครงการภาคเอกชนจัดงานภายใต้ Theme “Embrace Engage Enable”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้เต็มรูปแบบ และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่รัดกุม จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดอาการสะดุด ดังนั้นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐควรให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่สัดส่วนการให้บริการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นน่าจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย ถึงแม้ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง
“กรมควบคุมโรคบอกว่าผู้ที่เสียชีวิต 98% ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ตอนนี้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น สถานการณ์น่าจะดีขึ้น อยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วที่สุด ถ้าจะกระตุ้นก็ต้องทำให้เต็มที่ อย่าให้คุ้นชินว่าถ้ามีปัญหาก็จะมีการเยียวยาอีก” นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต้นน้ำสูงขึ้น ได้แก่ เหล็ก ปูน กระดาษ เพราะต้องใช้พลังงานมากในการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง ขณะที่มีผลกระทบโดยตรงในเรื่องค่าขนส่ง ซึ่งหากราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานานก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับราคาสินค้า และหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะส่งผลกระทบไม่มาก
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐต้องสร้างขึ้น ได้แก่ บรรยากาศและความเชื่อมั่น ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรควรให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาเอกชนเกิดการสะดุดมา 3 รอบแล้ว ขณะเดียวกันพยายามใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของเอสเอ็มอี เช่น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน