“หุ้นพลังงาน” ร่วงหนัก เซ่น WTI ลบกว่า 3% หลังสต็อกน้ำมันพุ่งเกินคาด
“หุ้นพลังงาน” เปิดลบ เซ่น WTI ลบกว่า 3% หลัง EIA เปิดตัวเลขสต็อกน้ำมันพุ่งเกินคาด อีกทั้งยังถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรหลังราคาพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 10:06 น. ราคาหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อยู่ที่ระดับ 37.25 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 1.32% สูงสุดที่ระดับ 37.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 37 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 605.46 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP อยู่ที่ระดับ 115.50 บาท ลบ 2 บาท หรือ 1.70% สูงสุดที่ระดับ 117 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 115.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 500 ล้านบาท
นอกจากนี้ หุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP อยู่ที่ระดับ 54 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.37% สูงสุดที่ระดับ 54.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 53.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 89.79 ล้านบาท
รวมถึงราคาหุ้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC อยู่ที่ระดับ 61 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 0.81% สูงสุดที่ระดับ 61.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 61 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 165.09 ล้านบาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงในวันนี้ มาจากสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (3 พ.ย.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้
สำหรับ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 3.05 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 80.86 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2564
ด้านสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.73 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 81.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2564
โดยสัญญาน้ำมันดิบร่วงลง หลังจาก EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 300,000 บาร์เรล
ข้อมูลของ EIA สอดคล้องกับที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) รายงานก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ ข้อมูลของ EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 900,000 บาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 900,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล
ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันนี้ (4 พ.ย.) ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะยังคงมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. แม้ว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐและอินเดีย ต่างกดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน