TNP ร่วง 7% โบรกฯคาดกำไร Q4 หดตัว หลังไร้มาตรการรัฐกระตุ้น-รายได้สาขาลดลง
TNP ร่วง 7% โบรกฯ คาดกำไรไตรมาส 4/2564 หดตัวแรง หลังไม่มีมาตรการรัฐช่วยกระตุ้น อีกทั้งรายได้ในแต่ละสาขายังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหากบริษัทไม่เร่งขยายสาขา โดยยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาที่เปิดมานานกว่า 1 ปี มีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่เคยคาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (5 พ.ย. 64) ราคาหุ้นของบริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP โดย ณ เวลา 12:07 น.อยู่ที่ระดับ 5.45 บาท ลบ 0.45 บาท หรือ 7.63% ทำจุดสูงสุดที่ 5.85 บาท และต่ำสุดที่ 5.30 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 61.76 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ แซดคอม ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (5 พ.ย. 64) ว่า TNP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/2564 ที่ 38 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยรายได้และกำไรหดตัวเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน หลังหมดโครงการ “เราชนะ” ที่ให้วงเงินในการซื้อสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 7,400 – 7,600 บาทต่อคน (5,400 – 5,600 บาทต่อคนในช่วงไตรมาส 1/2564 และ 2,000 บาทต่อคนในไตรมาส 2/2564)
สำหรับในช่วงไตรมาส 3/2564 มีเพียงมาตรการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียง 600 บาทต่อคน (200 บาทต่อเดือนต่อคน เป็นระยะเวลา 6 เดือนในช่วง ก.ค.-ธ.ค. 21) อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้และกำไรปรับตัวขึ้นจากการขยายสาขาใหม่เป็นหลัก (ไตรมาส 3/2563 มี 30 สาขา เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/2564 มี 35 สาขา คิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว 17%) โดยมี การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม เพิ่มขึ้น 3.2% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องหลังมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐลดลง (ไตรมาส 1/2564 การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม เพิ่มขึ้น 25.3% และ ไตรมาส 2/2564 การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม เพิ่มขึ้น 8.2%)
ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมในไตรมาส 4/2564 จะลดลง 5.5% เนื่องจากในไตรมาสนี้มีเพียงการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียง 1,200 บาทต่อคน (200 บาทต่อเดือนต่อคน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในช่วง ก.ค.-ธ.ค. 64และการออกมาตรการเพิ่มเติมในพ.ย.-ธ.ค.64 เดือนละ 300 บาท) ขณะที่ ในช่วงไตรมาส 4/2563 มีการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,500 บาทต่อคน (เดือนละ 500 บาทต่อ คนในช่วงต.ค.-ธ.ค.63) ซึ่งหากไม่มีการออกมาตรการแจกเงินเพิ่มเติมหลังจากนี้ จะทำให้การเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคตจะมาจากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการขยายสาขาในปี 2564-2565 ปีละ 6 สาขา ส่งผลให้มีจำนวนสาขาเป็น 38 และ 44 แห่งตามลำดับ
โดยจากข้อมูลในอดีตเห็นว่ายอดขายต่อสาขาเดิมปรับตัวลดลงต่อเนื่องแม้ว่าภาพรวมยอดขายจะเติบโตขึ้น ดังนั้น หากบริษัทไม่เร่งขยายสาขาอาจทำให้ยอดขายหดตัว ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาที่เปิดมานานกว่า 1 ปี มีแนวโน้มลดลง มากกว่าที่เคยคาด รวมทั้งรายได้และกำไรที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 3/2564 จึงปรับรายได้และกำไรในปี 2563-2564 ลงโดยปรับรายได้เป็น 2,575 และ 2,731 ล้านบาท ลดลง 3% และลดลง 7% ตามลำดับ และปรับกำไรเป็น 185 และ 197 ล้านบาท ลดลง 4% และลดลง 8% ตามลำดับ
ดังนั้น จึงปรับลดคำนำ TNP ลงเป็น “ถือ” จาก “ซื้อ” โดยปรับราคาเหมาะสมปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 5.70 บาท จากเดิม 6.20 บาท โดยใช้ Prospective PE 23.2 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ลดลง 0.5 SD เนื่องจากเรามองว่าการเติบโตในปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวจากฐานที่สูงในปี 2564 อย่างไรก็ตามระยะยาวเรามองว่าบริษัทมีฐานะการเงินแกร่งปลอดหนี้เงินกู้ มีโอกาสเติบโตผ่าน การขายแฟรนไชส์ และการขยายไปยังภูมิภาคอื่นจากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในภาคเหนือตอนบน