กทอ.อนุมัติงบปี 59 กว่า 1.01 หมื่นลบ.เร่งขับเคลื่อนแผนพลังงานทดแทน

กทอ.อนุมัติงบปี 59 กว่า 1.01 หมื่นลบ.เร่งขับเคลื่อนแผนพลังงานทดแทน


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่าคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(กทอ.) อนุมัติงบประมาณปี 2559 จำนวนกว่าหมื่นล้านบาท เร่งขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการประหยัดพลังงานของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุน SMEs ให้มีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผ่านกลไกการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน

ด้านพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กทอ.ได้จัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อเดินหน้าตามโรดแม็ปแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยเห็นชอบอนุมัติงบปี 2559 ในวงเงินรวม 10,152 ล้านบาท จำแนกเป็น 1) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 8,146 ล้านบาท 2) แผนพลังงานทดแทน จำนวน 1,854 ล้านบาท และ 3) แผนบริหารกลยุทธ์ จำนวน 150 ล้านบาท

ทั้งนี้ ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามแนวทางปี 2558 คือ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนฯ ในปี 2559 จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้รวมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,351 ล้านบาท/ปี อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและยกระดับการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

โดยเป็นผลมาจากโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน(Energy Saving Loan) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินพิเศษ เพื่อช่วยเหลือการลงทุนแก่ SMEs มีลักษณะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3.5% สำหรับเป็นเงินทุนเปลี่ยนแอร์อินเวอเตอร์ และเปลี่ยนหลอด LED เป็นต้น

รวมทั้งมาตรการบังคับ เช่น การกำกับดูแลโรงงาน/อาคารควบคุมตามกฎหมาย ในการจัดทำแผนและเป้าหมายประหยัดพลังงาน อาคารควบคุมในภาครัฐและเอกชน การประหยัดพลังงานเชิง Area Base เช่น อุตสาหกรรมน้ำแข็ง ข้าว อาหาร และอาหารสัตว์

ส่วนการดำเนินงานตามแผนพลังงานทดแทนในปี 2559 คาดว่าจะก่อให้เกิดการจัดตั้งระบบผลิตในรูปแบบการนำร่องพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 4.18 เมกะวัตต์(MW) ใช้พลังงานทดแทนด้านความร้อน คิดเป็น 65 ktoe/ปี  ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.65 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ ณ ปี 2558 เป็นร้อยละ 13.75 ในปี 2559

โดยเป็นผลมาจากโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการสนับสนุนแบบให้เปล่า(Direct Subsidy) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนหัวเผา(Burner) จากหัวเผาน้ำมันเตา หรือ LPG มาเป็นหัวเผาชีวมวล(Biomass Pallet)

รวมทั้งการสร้างต้นแบบในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในหน่วยงานต่างๆ เช่น อุทยานราชภักดิ์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านห่างไกลตามแนวพระราชดำริ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล การติดตั้งระบบโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ และโครงการนำร่องใช้น้ำมัน B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะทดลองในระดับการทำงานจริง (Field Scale Test) โดยจะมีปริมาณน้ำมัน B20 (ผสมพิเศษ) ที่มาทดลองทั้งสิ้น 28 ล้านลิตร

นอกจากนี้ ที่ประชุม กทอ.ยังได้จัดสรรงบประมาณในส่วนของงานสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรและการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้แก่ เยาวชน ครู ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานและอาคาร บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการกระตุ้นและปลูกฝังจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วน  ให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงาน ภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ การสนับสนุนทุนการศึกษา โครงการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น, Energy Mobile Unit เข้าถึงชุมชนในพื้นที่ต่างๆ, รณรงค์การเลือกซื้อและใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579(Energy Efficiency Plan:EEP 2015) กระทรวงฯ ได้นำแผน EEP มาเร่งดำเนินการเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผน ซึ่งได้รับทราบว่าในช่วงปี 2555-2558 ที่คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติจัดสรรเงินไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 23,946 ล้านบาท ได้มีการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ รวมเป็นเงิน 21,344 ล้านบาท ได้ก่อให้เกิดผลประหยัดรวม 31,150 ล้านบาท ผ่านโครงการที่สำคัญๆ เช่น

การกำกับดูแลการใช้พลังงานในอาคารภาครัฐกว่า 10,000 แห่ง การใช้พลังงานในภาคเอกชนที่เป็นอาคารควบคุม 2,250 แห่ง และโรงงานควบคุม 5,500 แห่ง และจากมาตรการช่วยเหลือด้านเงิน เช่น สนับสนุนด้านการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โครงการนำร่องใช้ระบบท่อก๊าซจำนวน 100 ครัวเรือน การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 733 ระบบ เป็นการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 343 แห่ง

Back to top button