ดอลล์ร่วงหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอ
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อคืนนี้ (14 ต.ค.) หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอและรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้บ่งชี้ถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1478 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.1383 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์เพิ่มขึ้นที่ 1.5479 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5253 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 118.82 เยน จาก 119.81 เยน และลดลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9488 ฟรังก์ จาก 0.9580 ฟรังก์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7283 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7272 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ร่วงลง 0.5% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางการร่วงลงของราคาน้ำมัน และดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ลดลง 0.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI จะลดลง 0.2% ในเดือนก.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานจะเพิ่มขึ้น 0.1% ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อรถยนต์ที่พุ่งขึ้น 1.8% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย.
ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอโดยรวมได้จุดปะทุความวิตกที่ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอความแรงลง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงาน Beige Book ที่ระบุว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต
นักวิเคราะห์มองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังในเดือนก.ย.ได้สกัดความเป็นไปได้ที่ว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป
นางเลล เบรนาร์ด ผู้ว่าการเฟด ได้เตือนว่าแนวโน้มเงินฝืดทั่วโลกอาจจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดี แต่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงถ่วงการส่งออกและเงินเฟ้อของสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆจากต่างประเทศมีแนวโน้มจะส่งผลให้มีแรงกดดันในช่วงขาลงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ