AOT เตรียมชงร่าง TOR ขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 วันที่ 21 ต.ค.นี้
AOT เตรียมชงร่าง TOR ขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จำนวน 2 สัญญา วันที่ 21 ต.ค.นี้ คาดเปิดประมูลได้ ธ.ค.58 ส่วนอีก 3 สัญญาคาดจะเริ่มเปิดประมูลได้ต้นปี 59
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารบริษัทเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เพื่อขออนุมัติร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 จำนวน 2 สัญญา จากทั้งหมดมี 5 สัญญา ได้แก่
1)งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รองรับหลุมจอดประชิดอาคาร จำนวน 28 หลุมจอด และงานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท
2)งานงานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคได้แก่ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบน้ำเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศเชื่อมเข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) วงเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท
โดยหลังจากคณะกรรมการบริษัทอนุมัติจะนำเสนอต่อคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)ซึ่งคาดใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แล้วจะส่งกลับมาที่ ทอท.จากนั้นคาดว่าจะประกาศเชิญชวนประกวดราคาได้ในเดือน ธ.ค.58 และคาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในเดือน มี.ค.59 พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 33 เดือน
ส่วนอีก 3 สัญญาคาดจะเริ่มเปิดประมูลได้ต้นปี 59 และได้ผู้รับเหมาพร้อมเริ่มก่อสร้างภายใน ก.ค. 59 ได้แก่
3) งานออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (Midfield Sattellite) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านกิจกรรมการบินรวมทั้งสะพานเทียบเครื่องบิน ระบบ Docking Guidance, Gate Assignment ระบบสารสนเทศ และ ระบบ Baggage Handling เชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก
4) งานออกแบบและกอ่สร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี
5)งานออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก
สำหรับเหตุผลที่ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้พร้อมกันทั้ง 5 สัญญา เพราะอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคาลงมา โดยเฉพาะงานในสัญญาที่ 3 ซึ่งซัพพลายเออร์ยังไม่ยอมลดราคาลงมา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทสามารถเจรจาต่อรองลงมาได้แล้ว 5,900 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 6.2 หมื่นล้าบาท และจะพยายามปรับลดงบประมาณได้อีกเป็น 7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอมรับว่าต้นทุนค่าแรงงานสูงขึ้นจากเดิมโครงการระบุที่ 225 บาท/วัน แต่วันนี้ราคาแรงงานปรับขึ้นไป 300 บาท/วัน และถ้าเป็นค่าแรงสำหรัรบคนไทยจะอยู่ที่ 500 บาท/วัน ทำให้ไม่สามารถลดมูลค่าโครงการลงตามที่ตั้งเป้าไว้ 1 หมื่นล้านบาทได้ โดยต้นทุนค่าแรงคิดเป็นกว่า 30% ของต้นทุนรวม จากเดิมมีสัดส่วนอยุ่กว่า 20%ของต้นทุน โดยรวมวงเงินค่าแรงจะมีจำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าสูง ส่วนค่าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซิเมนต์ ลดลงได้ราว 30% เหล็กเส้น ลดลงได้กว่า 20% นอกจากนนี้ งานจ้างที่ปรึกษาโครงการนี้มี 4 สัญญาก็รวบเหลือ 1 สัญญา คือจ้างเพียงรายเดียว ก็ช่วยลดมูลค่าเงินลงทุนโครงการนี้ได้ด้วย
อนึ่ง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี