JMT บวก 3% โบรกฯอัพเป้า 65 บ. ชี้ผลงาน Q4 “นิวไฮ” ต่อ ดันกำไรปีนี้ทะลุ 1.3 พันลบ.
JMT วิ่ง 3% โบรกฯ แนะ “ซื้อ” อัพเป้า 65 บ. ชี้ผลงานไตรมาส 4 “นิวไฮ” ต่อเนื่อง จากการติดตามหนี้ดีขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นหลังคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศหนุน ดันกำไรปีนี้แตะ 1.37 พันลบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (16 พ.ย. 2564) ราคาหุ้นบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ณ เวลา 10:32 น. อยู่ที่ระดับ 56.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท หรือ 3.21% โดยทำจุดสูงสุด 57.00 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 54.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 330.53 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (15 พ.ย. 2564) ว่า บริษัทฯ ได้รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/2564 ที่ 352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสก่อน ซึ่งสูงกว่าตลาดคาด ที่เพิ่มขึ้น 10% หนุนโดย (1) รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 21% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน ตามขนาดกองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น 66% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าซื้อหนี้เสียเพิ่มขึ้นในงวดที่ 3.80 พันล้านบาท รวมถึง Cash collection ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 1.20 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสก่อน
อีกทั้ง (2) รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 45% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 39% จากไตรมาสก่อน จากการรับรู้กำไรจากเงินให้สินเชื่อ จากการซื้อลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งชดเชยผลการดำเนินงานในธุรกิจอื่นที่ไม่ดีในช่วง COVID-19 นอกจากนี้ (3) ธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ที่รายได้ลดลง 32% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลง 16% จากไตรมาสก่อน จากมูลหนี้รับจ้างที่หดตัว ภายหลังที่สถาบันการเงินได้ชะลอการว่าจ้างในช่วงที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และ (4) รับรู้ ขาดทุนจาก Jaymart Insurance ที่ลดลง 13 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2563 รับรู้กำไร 3 ล้านบาท)
ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 เพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ 1.37 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 7% อยู่ที่ 2.18 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการปรับเพิ่มต้นทุนการซื้อหนี้มาบริหารเป็นปีละ 1.00 – 1.20 หมื่นล้านบาท จากเดิม 0.70 – 1.00 หมื่นล้านบาท เพื่อสะท้อนยอดซื้อหนี้สะสมที่มากกว่าคาด (งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 7.10 พันล้านบาท สูงสุดในกลุ่ม AMC ที่ทางฝ่ายวิจัยออกบทวิเคราะห์ รวมถึงในเดือน ต.ค. – พ.ย. บริษัทฯ ได้ซื้อหนี้เสียเพิ่มที่มูลหนี้ 1.50 พันล้านบาท) และฐานเงินทุนของบริษัทฯ ที่จะเพิ่มขึ้นภายหลังที่มีการเพิ่มทุน RO ในปลายปี 2564
ขณะที่ทางฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการรายได้ธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ปี 2565 ที่จะดีขึ้นตามมูลหนี้รับจ้างที่คาดว่าจะขยายตัว 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากที่หดตัวในปี 2564 ที่ลดลง 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ภายหลังการสิ้นสุดระยะเวลาการช่วยเหลือของสถาบันการเงินที่ปัจจุบันได้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือถึง ธ.ค. 2564และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลงคิดเป็น Cost to income ที่ 48%/44% จากปีก่อนที่ 51% หนุนโดย ต้นทุนการให้บริการที่ลดลงตามประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ที่ดีขึ้น
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2564 คาดจะขยายตัวต่อเนื่อง และทำสถิติสูงสุดใหม่ หนุนโดยการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของกองหนีที่ซื้อในไตรมาส 3/2564 เต็มไตรมาส, คาดบริษัทฯ จะเข้าซื้อหนี้ในไตรมาส 4/2564 เพิ่มขึ้นสูง ตามปัจจัยฤดูกาล และ Cash collection ที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวภายหลังการคลาย lockdown และเปิดประเทศ
อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยได้ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 65.00 บาท อิงวิธี GGM ได้ปี 2565 ค่า PBV ที่ 4.70 เท่า จากเดิมราคาเป้าหมายที่ 56.00 บาท อิงวิธี GGM ได้ปี 2565 ค่า PBV ที่ 4.10 เท่า โดยเป็นผลจากการปรับกำไรสุทธิขึ้น และทำให้ 3-yr ROE ปรับตัวขึ้นเป็น 15.40% จากเดิม 14.60%
ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยประเมินว่าบริษัทฯ ควรที่จะเทรด Premium มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมจาก (1) ผลกระทบที่จำกัดจาก COVID-19 อีกทั้ง (2) มีกองหนี้ เสียที่มั่นคงทั้งกองหนี้เสีย Unsecured ที่มีสัดส่วน fully-amortized เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกองหนี้เสีย Secured ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังที่ทางฝ่ายวิจัยประเมินว่าบริษัทฯ มีความสามารถในการบริหารจัดการกองหนี้ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ (3) ผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทฯ จะขยายตัวที่ปี 2563 – 2565 Core EPS CAGR เพิ่มขึ้น 23% และ (4) ปี 2565 ROE ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12% และสูงสุดในกลุ่ม