ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดฯลดเป้า GDP ไทยปีนี้เหลือโต 2.9% มองปีหน้าโต 4%

ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดฯลดเป้า GDP ไทยปีนี้เหลือโต 2.9% มองปีหน้าโต 4%


นางอุสรา วิไลพิชญ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.9% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราว 6% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ทำไว้เมื่อปลายปีก่อน เนื่องจากการลงทุนภาครัฐยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้หดตัวราว 5% ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนให้ชะลอตัว

อย่างไรก็ตามมองว่าในช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่าการบริโภคจะกลับเข้ามค่อนข้างเร็ว หลังจากที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ความช่วยเหลือทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเร็วขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 59 มองว่าน่าจะเติบโตได้ 4% เป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบราง รวมไปถึงการขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ต่างๆ ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจ และจะส่งผลต่อความมั่นใจของภาคเอกชนให้กลับมาลงทุนมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามด้านการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1-3% หลังเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวที่ราว 35.6 บาท/ดอลลาร์ แต่หากสหรัฐฯยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์ และในปี 59 หากสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็น่าจะเคลื่อนไหวที่ราว 34.75 บาท/ดอลลาร์ แต่หากไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นทะลุ 34 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ตามในส่วนมุมมองของธนาคาร เห็นว่าหากเฟดไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนธ.ค.ปีนี้ เฟดก็คงจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปี 59 เพราะสหรัฐเริ่มมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยในรอบเดือนธ.ค.นี้ ก็คาดว่าสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีหน้า แต่จะเป็นลักษณะของการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีนนั้น เชื่อว่าจะยังคงเติบโตระดับใกล้เคียง 7% ทั้งในปีนี้และปีหน้า จากนโยบายการคลังที่ยังคงมีความเข้มแข็ง ขณะที่การปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนลงในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการปรับให้ค่าเงินมีความเป็นสากลและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้นเท่านั้น

 

 

Back to top button