จับตา! BGRIM-GULF-GPSC วิ่งรับ “กกพ.” ปรับค่า Ft เพิ่ม ชี้มาร์จิ้นขายไฟฟ้าสูงขึ้น

จับตา! BGRIM-GULF-GPSC วิ่งรับประโยชน์ "กกพ." ปรับค่า Ft ขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ชี้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าสูงขึ้น  ลุ้นประกาศแผน PDP ทั้งไทยและเวียดนาม


นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับสูงขึ้น โดยรับปัจจัยบวกจาก “กกพ.” ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ (ค่าเอฟที) รอบเดือนมกราคม–เมษายน 2565 อยู่ที่ 16.71 สตางค์ต่อหน่วยโดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 อยู่ที่ติดลบ 15.32 สตางค์ต่อหน่วย

โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับลดลงอย่างจากหลังนักลงทุนมีความกังวลว่า กกพ. จะลดค่าเอฟทีลง โดยเฉพาะ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM  ราคาหุ้นลงแรงกว่าตัวอื่นจากความกังวลเรื่องราคาขายไฟของโรงไฟฟ้า SPP ที่จะมีมาร์จิ้นลดลง แต่เมื่อ กกพ. ประกาศปรับขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าวก็มองว่าหุ้น BGRIM จะปรับตัวขึ้นแรงมากที่สุดเช่นกัน

นอกจากนี้ BGRIM ยังได้รับผลบวกอีกหลายปัจจัย ทั้งจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หลังเปิดประเทศจึงแนะนำ “ซื้อ” BGRIM ราคาเป้าหมาย 58 บาท

ขณะที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF  ก็เป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน ได้แก่ 1.การปรับขึ้นค่าเอฟที ทำให้มาร์จิ้นราคาขายไฟฟ้าของ SPP ดีขึ้น 2.การนำเข้า LNG ทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าลดลง และ 3.กำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในปี 2565 และได้รับประโยชน์จากแผน PDP ของทั้งไทยและเวียดนาม

นอกจากนี้การขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว พบว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าวมี GULF ถือหุ้นสัดส่วนประมาณ 30% ด้วย ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” GULF ราคาเป้าหมาย 62 บาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ที่น่าสนใจเช่นกัน แม้ว่ากำไรไตรมาส 3/2564 ไม่ดีมากนัก แต่ไตรมาส 4/2564 จะดีขึ้นอย่างมาก เพราะไม่มีการปิดซ่อมบำรุง และราคาถ่านหินอ่อนตัวลง ทำให้กำไรไตรมาส 4/2564 เติบโตขึ้นอย่างมาก

ดังนั้นมองว่าหุ้นโรงไฟฟ้าจะปรับขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะ BGRIM,GULF, BPP, GPSC, EGCO และ RATCH ไม่ใช่เพียงแต่การปรับขึ้นค่าเอฟที แต่การเปิดเมืองทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่ ทำให้การใช้ไฟฟ้าขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BGRIM ปิดตลาดที่ราคา 42.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น  3.05% มูลค่าการซื้อขาย 1,269.71 ล้านบาท,GULF ปิดตลาดที่ราคา 41.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.61% มูลค่าการซื้อขาย 792.41 ล้านบาท

ด้าน GPSC ปิดตลาดที่ราคา 76.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.99% มูลค่าการซื้อขาย 1,816.43 ล้านบาท,EGCO ปิดตลาดที่ราคา 176 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.28% มูลค่าการซื้อขาย 177.74 ล้านบาท,RATCH ปิดตลาดที่ราคา 45 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.25% และ BPP ปิดตลาดที่ราคา 17.40 บาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 18.64 ล้านบาท

ด้านนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน หรือ GULF เปิดเผยว่า จากกรณี กกพ. ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 มองว่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมกลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมาร์จิ้นในการขายไฟฟ้าสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SPP ที่ขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาอาจรับผลกระทบจากราคาต้นทุนก๊าซฯ ที่สูงขึ้น แต่ในส่วนของ GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กลุ่มอุตสาหกรรมเพียง 10% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะขายให้กับ กฟผ. ในสัดส่วนประมาณ 90% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น

ขณะที่นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี BGRIM เปิดเผยว่า กกพ. ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 มองว่าจะส่งผลให้ภาระราคาก๊าซฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้เกิดความคลี่คลาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องการแบกรับต้นทุนก๊าซฯ ที่สูงขึ้น ดังนั้นการปรับค่าเอฟทีเพื่อสะท้อนต้นทุนราคาก๊าซฯ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมได้อย่างดีและเต็มที่มากขึ้น โดยปัจจุบัน BGRIM ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. สัดส่วน 80% และลูกค้าอุตสาหกรรม 20%

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ กกพ. มีมติให้ปรับค่าเอฟทีรอบเดือนมกราคม–เมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 อยู่ที่ติดลบ 15.32 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบัน

ทั้งนี้เป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในส่วนของพลังน้ำลดลงตามฤดูกาลและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ลดลงตามแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูกลดลง นอกจากนั้นราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากตามภาวะราคาน้ำมันขาขึ้นในตลาดโลก และปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปลายสัมปทาน

โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้ดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการการลดค่าไฟฟ้า และตรึงค่าเอฟทีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในต่างประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวส่งผลให้เกิดภาวะพลังงานตึงตัว (Energy Crisis) เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซฯ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้ จึงเป็นเหตุทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับราคา LNG ตลาดจร (Spot) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากแตะที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู กกพ. ได้หารือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ให้ กฟผ. และ ปตท. จัดหาก๊าซฯ มาเก็บสำรองไว้ด้วยสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะกลางและระยะยาวแทน เนื่องจากจะได้ราคาถูกกว่าซื้อ Spot และระหว่างที่ราคาก๊าซฯ แพงให้พิจารณาเลือกใช้น้ำมันมาผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซฯ ไปก่อน โดยใช้เกณฑ์ราคา LNG เทียบกับราคาน้ำมัน ที่ กกพ .ได้ศึกษาไว้ โดยหากราคา LNG เกิน 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็ให้เลือกใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าแทน แต่หากถูกกว่า 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็ให้เลือกใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งเกณฑ์ราคาดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) สามารถนำเข้า LNG มาเสนอขายให้กับ ปตท. และ กฟผ. ได้

Back to top button