ANAN พุ่ง 7% มั่นใจแผนเพิ่มทุน เสริมสภาพคล่อง ลุย 7 โครงการ มูลค่า 2.8 หมื่นลบ.
ANAN พุ่ง 7% มั่นใจแผนเพิ่มทุน เสริมสภาพคล่องทางการเงิน หวังลุยเปิดโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 28,000 ล้านบาท สร้างการเติบโตแกร่งในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 24 พ.ย. 2564 ราคาหุ้น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ณ เวลา 10:58 น. อยู่ที่ระดับ 1.66 บาท บวก 0.11 บาท หรือบวกไป 7.10% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 340.03 ล้านบาท
ล่าสุดจะเห็นว่าราคาหุ้นบนกระดาน ANAN ปรับตัวขึ้นมาแตะ 1.64 บาท อาจทำให้นักลงทุนผู้ถือหุ้นเดิมที่สนใจเก็บเพิ่มต้องกลับมาคิดใหม่ว่าการเข้าเพิ่มทุนอาจดีกว่าเข้าไล่ราคาหุ้นบนกระดานเสียด้วยซ้ำ เพราะหากดูจากราคาเพิ่มทุน 1.55 บาท ถือว่าถูกกว่าราคาบนกระดาน ซึ่งหากเพิ่มทุนจะใช้จำนวนเงินน้อยกว่า สิ่งสำคัญหากนักลงทุนผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มทุนยังรับฟรีวอร์แรนต์ (ANAN-W1) จำนวน 1 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 วอร์แรนต์ อีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของการเพิ่มทุน โดย ANAN ได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 833.25 ล้านหุ้น ในอัตราส่วนการจัดสรร 4 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.55 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น และหากผู้ถือหุ้นจองซื้อเต็มจำนวนจะส่งผลให้บริษัทได้รับเงินระดมทุนประมาณ 1,291.54 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาการนำเงินไปใช้ภายในปี 2565
ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ พร้อมรับสิทธิ์ฟรีใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (ANAN-W1) รุ่นที่ 1 ของบริษัท ซึ่งจัดสรรจำนวนไม่เกิน 833.25 ล้านหน่วย ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) 1 หน่วย โดยมีอัตราใช้สิทธิแปลงสภาพ 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ 1.65 บาทต่อหุ้น มีระยะเวลาใช้สิทธิ 2 ปี ทำให้กลายเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนทั่วไปเกิดความอย่างรู้ว่า วอร์แรนต์ตัวนี้จะอนาคตสดใสเพียงใด และนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานความเป็นไปได้มากสุด
ประเด็นดังกล่าวทำให้สมมติฐานดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่นักลงทุน หากกรณีที่ผู้ถือหุ้นที่ถือ ANAN-W1 ใช้สิทธิแปลงสภาพซื้อหุ้นสามัญใหม่เต็มจำนวน บริษัทจะได้รับเงินระดมทุนประมาณ 1,374.86 ล้านบาท จึงมองว่าการออกวอร์แรนต์ในรอบนี้ เป็นประเด็นบวกต่อทั้งนักลงทุนและบริษัทในระยะ 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเป็นการได้เงิน โดยที่ไม่มีต้นทุนทางการเงิน หรือไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย อีกทั้งบริษัทนำเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANAN เปิดเผยว่า การเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง และสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท เพื่อให้มีสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการลงทุนและพัฒนาโครงการต่างๆ
โดยเป็นไปในตามแผนการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ จำนวน 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ โดยเตรียมเปิดคอนโดมิเนียม 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ 1. แบรนด์ “โคโค่ พาร์ค” (COCO PARC) จำนวน 1 โครงการ เป็นคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ก่อนเปิดขาย จำนวน 486 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4,622 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT
พร้อมกับ 2. แบรนด์ “คัลเจอร์” (Culture) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ คัลเจอร์ ทองหล่อ (Culture Thonglor) มูลค่าโครงการ 3,383 ล้านบาท และโครงการ คัลเจอร์ จุฬา (Culture Chula) มูลค่าโครงการ 6,031 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนเปิดตัว 2 โครงการคอนโดมิเนียม New Series ใหม่ ภายใต้แบรนด์หลัก ได้แก่ 1.โครงการ ไอดีโอ พหล- สะพานควาย (Ideo Phahol-Saphan Khwai) มูลค่าโครงการ 7,521 ล้านบาท และ 2.โครงการไอดีโอ รามคำแหง–ลำสาลี สเตชั่น (Ideo Ramkhamhaeng Lam Sali Station) มูลค่าโครงการ 2,085 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดโครงการแนวราบ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ อาร์เทล พระราม 9 (Artale Rama9) มูลค่าโครงการ 3,538 ล้านบาท และ 2.โครงการ ARTALE Ekkamai-Ramintra
สำหรับเป้าหมายในปี 2565 บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตจากปี 2564 โดยวางเป้าหมายยอดโอนกรรมสิทธิ์ไว้ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2564 ซึ่งปัจจุบันมียอดขายรอโอน (Backlog) รองรับแล้ว จำนวน 6,220 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของเป้าหมายทั้งปี จาก Backlog ที่มีในมือล่าสุดมูลค่ากว่า 12,821 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 2566 โดยในปี 2565 จะมีโครงการสร้างเสร็จใหม่ จำนวน 4 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 15,839 ล้านบาท และมีสินค้าพร้อมขาย (สต็อก) มูลค่ารวมประมาณ 28,000 ล้านบาท จาก 34 โครงการ
อนึ่งบริษัทไม่ได้หนี้สินสูงอย่างที่คิด โดยรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 1.22-1.84 เท่า มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net IBD/E ratio) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.73-1.18 เท่า
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีศักยภาพและความพร้อมทางด้านการเงินในการลงทุนขยายโครงการต่างๆ โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสดกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแผนออกหุ้นกู้มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2565 เพื่อรองรับจังหวะที่สำคัญในการเติบโตของบริษัทต่อไป