JAS พุ่ง 6% รับอานิสงส์มูลค่าหุ้น JTS เพิ่ม ลุ้นชนะคดี NT หวังบุ๊ก 4.5 พันลบ.

JAS พุ่ง 6% รับอานิสงส์มูลค่าหุ้น JTS เพิ่ม ลุ้นยุติข้อพิพาทคดีส่วนแบ่งรายได้สัญญาร่วมลงทุนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำกับ NT คาดชนะคดีจ่อบุ๊ก 4.5 พันลบ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ธ.ค. 2564) ราคาหุ้น บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ณ เวลา 10:05 น. อยู่ที่ระดับ 3.44 บาท บวกไป 0.20 บาท หรือขึ้นไป 6.17% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 381.89 ล้านบาท

ด้วยราคาหุ้น JAS ปรับตัวขึ้นล่าสุดนิวไฮในรอบ 16 เดือน  และปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนทำให้ขึ้นมา 3 วันทำการรวม 14.67% ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแหล่งข่าววงการสื่อสาร เปิดเผยว่า ราคาหุ้น JAS ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดเป็นการปรับตัวขึ้นตามบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ซึ่ง JAS เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ JTS โดยถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน JTS สัดส่วนรวม 50.91% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ JTS (JAS เป็นผู้ถือหุ้น JTS ทางตรง 32.80% และถือหุ้นทางอ้อม โดยผ่านบริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด 9.06% และบริษัท ที.เจ.พี.เอ็นจิเนียริ่ง 9.05%) โดยขณะนี้ก็ถือว่า undervalue (มูลค่าต่ำเกินไป) เมื่อเทียบกับมูลค่าของ JTS ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่สูงขึ้น

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น JAS ที่ปรับตัวขึ้น หลังจากราคาหุ้นพักตัวมานาน น่าจะเกิดจากการกลับมาเก็งกำไรความคืบหน้ายุติข้อพิพาทระหว่างบริษัท จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด หรือ JSTC (JAS ถือ 100%) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT (ปัจจุบันรวมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT) ยอดหนี้คงค้างประมาณ 2,518 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5%) ซึ่งในเดือน พ.ค. 2562 คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ขาดให้ JSTC ชนะคดีดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ คาดว่าขั้นตอนการเจรจาประนีประนอมกับ NT จะบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในไตรมาส 2/2564 หลัง JSTC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JAS เตรียมจะเข้าไปเจรจากับ NT ที่อยู่ในฐานะลูกหนี้การค้าของ JSTC ในข้อพิพาทเรื่องการชำระส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ (ฝั่งตะวันออก) กับ TOT กว่า 10 ปี โดยหาก JSTC เจรจาประนีประนอมข้อพิพาทดังกล่าวสำเร็จ JAS ก็มีโอกาสที่จะบันทึกเงินสดเข้ามาประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากยอดหนี้คงค้างประมาณ 2,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยค้างจ่าย 7.5% ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2563 อีกประมาณ 2,027 ล้านบาท

ขณะที่ไม่พบว่ามีปัจจัยบวกใหม่ที่จะส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานของ JAS เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2564 คาดว่าจะมีผลขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีผลขาดทุนอยู่ที่ 745 ล้านบาท แต่แย่กว่าไตรมาสก่อน เนื่องจากคาดว่าการปรับปรุงลูกค้า Non-active ที่เป็นหนี้สูญออกในไตรมาสสุดท้าย จะทำให้ฐานลูกค้าสะสมลดลงจากไตรมาสก่อน กระทบรายได้ธุรกิจหลัก ประกอบกับคาดว่าต้นทุนค่าเช่า OFC สุทธิเพิ่มจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามการปรับปรุงสมมติฐานอัตราคิดลดในส่วนสำรองประกันรายได้ค่าเช่า ทำให้ต้นทุนบริการจะเพิ่มขึ้นกว่ารายได้รวม

ดังนั้น ประมาณการทั้งปี 2564 คาดว่า JAS จะมีผลขาดทุนอยู่ที่ 1,938 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าผลการดำเนินงานของ JAS จะขาดทุนต่อไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า จากรายได้ของธุรกิจหลักเติบโตไม่ทันกับผลกระทบของ TFRS 16

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ TFRS 16 มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มช่องทางหารายได้ ทำให้คาดว่าผลขาดทุนจะลดลงต่อเนื่องในปี 2565-2566 และมีฐานทุนที่ดีขึ้นเพื่อกลับมาจ่ายเงินปันผลอีกครั้ง

Back to top button