EA แรงต่อ 3% เก็งรับอานิสงค์ “รัฐ” คลอดมาตรการกระตุ้น EV
EA วอลุ่มแน่น บวกต่อ 3% คาดนักลงทุนเข้าเก็งกำไร รับอานิสงส์รัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ณ เวลา 10:03 น. อยู่ที่ระดับ 100.50 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 2.55% สูงสุดที่ระดับ 105.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 97.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.22 พันล้านบาท
ด้านนายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าววานนี้ (16 ธ.ค.64) ว่า หุ้นในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่างปรับตัวขึ้น คาดว่าจะเป็นแรงเก็งกำไรของนักลงทุนหลังจากที่จะได้ประโยชน์จากภาครัฐฯ จะออกมาตรการส่งเสริมให้มีการใช้รถ EV มากขึ้น ซึ่งมีการนำเรื่องการเอื้อประโยชน์ทางภาษีมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนธันวาคมนี้
อนึ่ง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า) ที่มี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเตรียมประกาศมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ธ.ค.2564 เพื่อให้มีผลในไตรมาส 1 ปี 2565
โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการที่รัฐจะสนับสนุนครอบคลุมทั้งซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ คือ การผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ในประเทศ การสนับสนุนการใช้รถ การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยจะมีมาตรการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
สำหรับมาตรการดังกล่าวจะให้เวลาอุตสาหกรรมรถยนต์มีช่วงเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถยนต์สันดาปภายในไปสู่การผลิตอีวีรวม 10 ปีนับจากปี 2565 โดยช่วงการเปลี่ยนผ่านจะมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้าให้ต่ำที่สุดทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์
รวมทั้งจะให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์แบบ Full EV โดยมาตรการภาษีและการอุดหนุนที่เป็นตัวเงินมีเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าต่ำลงในระยะเวลา 5 ปีแรกนับจากปี 2565 เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งเงินอุดหนุนให้ราคาอีวีต่ำลงจะมาจากกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ ที่มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาใช้ไปน้อยมาก
“การนำเงินจากกองทุนนี้ไปอุดหนุนซื้ออีวีจะสอดคล้องเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ เพราะเป็นการช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์สันดาปภายในไปสู่การใช้อีวีตามแนวโน้มของโลก อีกทั้งช่วยลดมลภาวะในประเทศด้วย โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำลังหารือรายละเอียดการใช้จ่ายเงินจากกองทุนนี้”
ทั้งนี้ระยะแรกของการสนับสนุนการใช้อีวีในจำเป็นต้องมาจากการนำเข้า แต่ระยะต่อไปต้องสนับสนุนให้เกิดการผลิตภายในประเทศ ดังนั้น ค่ายรถยนต์ใดที่ต้องการรับมาตรการสนับสนุนทางภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐต้องมีเงื่อนไขปรับลดราคารถยนต์ลงมา
นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์จะต้องมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ภายใน 3 ปี และจะต้องเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ไม่ใช่เป็นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการภาษีและเงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว รัฐบาลอาจพิจารณาสนับสนุนอัตราค่าไฟฟ้าในการชาร์ตแบตเตอรี่ด้วย
สำหรับระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 10 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศมีเวลาปรับตัวดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนการใช้รถยนต์ทั้งหมดให้เป็นอีวีในเวลาไม่กี่ปี เพราะปัจจุบันมีรถยนต์สันดาปภายในถึง 40 ล้านคัน โดยเป็นรถยนต์ 20 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์ 20 ล้านคัน ซึ่งการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 10 ปี เพื่อให้ไทยยังรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ต่อได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์จากหลายประเทศสนใจลงทุนผลิตอีวีในไทย เช่น MG ส่วนโตโยต้าที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศรายใหญ่ในไทยยังกังวลฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทย ซึ่งอาจมีปัญหาในการปรับมาใช้ไฟฟ้าเพราะเป็นรถยนต์ที่ต้องใช้บรรทุกของหนัก แต่ในอนาคตค่ายรถยนต์จะพัฒนาการผลิตรถกระบะไฟฟ้าได้ เพราะปัจจุบันมีค่ายรถยนต์บางแห่งผลิตรถตู้ขนาดใหญ่ที่บรรทุกได้ถึง 20 ที่นั่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า แพ็คเกจเพื่อจูงใจให้มีการซื้อรถอีวีมากขึ้นได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในมาตรการรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนการตลาดของค่ายรถยนต์ และผู้ตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ในปี 2565 จะมีแรงจูงใจซื้ออีวีมากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการที่จะเสนอ ครม.พิจารณาประกอบด้วยการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อีวี ลดภาษีนำเข้าศุลกากร (อากรขาเข้า) และการคืนเงินให้ผู้ซื้ออีวี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับการสนับสนุนในสัดส่วนที่มากกว่า โดยลดให้ภาษีสรรพสามิตรถอีวีที่ปัจจุบันเก็บอัตรา 8% เหลือ 2% ภาษีศุลกากรนำเข้ารถอีวีลดสูงสุดที่ 80% รวมแล้วมีส่วนลดที่ภาครัฐจะทำมาตรการร่วมกับค่ายรถยนต์รวมแล้วมีส่วนลดสำหรับรถอีวีในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทประมาณ 20% จากราคาเต็ม ซึ่งเงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ
“หากคิดเป็นวงเงินรวมทั้งหมดที่จะได้ส่วนลดคือ 20% คือรถราคา 1 ล้านบาท จะลดไป 2 แสนบาท ถ้าราคา 2 ล้าน ลดไป 4 แสนบาท ซึ่งมองว่าหากจะทำมาตรการส่งเสริมรถอีวีในประเทศให้บูมระดับราคารถที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องให้โปรโมชันที่มีแรงจูงใจที่ดีพอจึงมีส่วนลดค่อนข้างมากในรถอีวีกลุ่มนี้” แหล่งข่าว กล่าว
2.กลุ่มรถอีวีที่ราคาเกินกว่า 2 ล้านบาทจะได้รับการสนับสนุนในส่วนของการลดภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรในส่วนอากรขาเข้าสูงสุด 20% ในระยะเวลา 2 ปี และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% เท่ากัน แต่จะไม่ได้การสนับสนุนเรื่องส่วนลดจากการคืนเงิน โดยกลุ่มรถอีวีที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้จะรวมถึงกลุ่มรถยนต์ที่มีราคาแพงถึงระดับราคา 7-8 ล้านบาท ก็ยังได้รับประโยชน์จากมาตรการหากเข้าตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้บอร์ดอีวีได้มีการกำหนดเงื่อนเพื่อสนับสนุนการขายรถอีวีในประเทศในช่วงแรกที่ใช้มาตรการเนื่องจากค่ายรถยนต์ต้องมีการนำเข้ารถยนต์อีวีจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเทศที่มีความร่วมมือด้านภาษี เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ทำให้การนำเข้ารถยนต์อีวีมายังประเทศไทยในเงื่อนไขไม่เสียภาษี
ทั้งนี้ได้มีการวางเงื่อนไขว่าต้องให้ค่ายรถที่นำเข้ารถอีวีมีการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายใน 2 ปี โดยมีการกำหนดสัดส่วน 1:15 เท่า คือ นำเข้ารถอีวีจากต่างประเทศ 1 คัน จะต้องผลิตชดเชยในประเทศภายในปี 2566 ที่ 1.5 คัน รวมทั้งต้องใช้แบตเตอรี่รถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวีอื่น เช่น PCU และ Traction Motor ที่ผลิตในไทยตามระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตามเมื่อมาตรการการสนับสนุนการใช้รถอีวีในประเทศได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นๆจะต้องไปออกประกาศกฎกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตรการมีผลบังคับใช้ภายใน 1-2 เดือน ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
นอกจากนี้บอร์ดอีวีเสนอให้ ครม.สนับสนุนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีชาร์จรถอีวีให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีมาตรการส่งเสริมการเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนที่มีแผนจะเพิ่มการลงทุนให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ใช้รถอีวีมีความมั่นใจมากขึ้น
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2564 คาดว่ายอดขายรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ในไทยจะอยู่ที่ 2,000 กว่าคัน ด้วยปัจจัยหนุนจากการยอมรับของผู้บริโภคในต่างประเทศที่มีใช้รถอีวีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคในไทยมีความรู้เกี่ยวกับรถอีวีและความเชื่อมั่นรวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ราคารถอีวียังเริ่มต่ำลงที่อยู่ที่ระดับ 1-2 ล้านบาท ซึ่งกว่า 90% เป็นรถนำเข้าทั้งหมด ส่วนที่ผลิตในประเทศมีไม่กี่รุ่นที่ขายได้ เช่น แบรนด์ Fomm โดยส่วนใหญ่รถอีวีที่ผลิตในประเทศยังเป็นรถประเภทปลั๊กอินไฮบริดและไฮบริด
ทั้งนี้ ในปี 2565 มีเอกชนผู้ผลิตบางรายที่ประกาศว่าจะผลิตรถอีวีในไทย ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้รถอีวี เช่น การขยายจำนวนสถานีชาร์จให้เพียงพอต่อการใช้งาน
นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมรถอีวีได้หารือมานานตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าแต่จะต้องมีการผลิตในไทย ซึ่งหากไม่มีการผลิตจะต้องเสียภาษีย้อนหลัง
“รถยนต์อีวีที่นำเข้าในปัจจุบันมีราคาต้นทุนสูงกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นกลุ่มผู้ซื้อหลักจึงเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง แม้ว่าจะมีมาตรการอุดหนุนที่จะช่วยลดราคาลง 20% ก็ไม่ได้ช่วยให้ราคารถถูกลงนัก และมาตรการดังกล่าวยังไม่มีการประกาศที่แน่ชัดว่าต้องการสนับสนุนให้ซื้อรถอีวีเพื่อลดมลภาวะทางอากาศหรือเพื่อสนับสนุนให้ผลิตรถและการผลิตชิ้นส่วนประกอบรถอีวีในประเทศ จึงยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้ก่อนจะมีการประกาศใช้จริง รวมทั้งต้องการให้สนับสนุนรถอีวีที่คนไทยเป็นผู้ผลิตและเกิดการจ้างงานในประเทศ อาทิ รถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า”
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ