CPANEL แรลลี่ยาว! บวกอีก 9% “ออลไทม์ไฮ” ส่งซิกผลงาน Q4 สดใส มั่นใจทั้งปี 64 รายได้โต 35%
CPANEL แรลลี่ยาว! บวกอีก 9% “ออลไทม์ไฮ” ส่งซิกผลงาน Q4 สดใส มั่นใจทั้งปี 64 รายได้โต 35% โชว์แบ็กล็อกแน่น 1.19 พันลบ. รับรู้รายได้ยาวถึงปี 66
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(17ม.ค.65) ราคาหุ้นบริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ณ เวลา 11:16 น. อยู่ที่ 9.25 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 8.82% สูงสุดที่ 9.30 บาท ต่ำสุด 8.40 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 54.20 ล้านบาท ราคาหุ้นสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564
โดยก่อนหน้านี้(13 ธ.ค.64) นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ CPANEL เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2564 จะเติบโตได้ดี เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากมีคำสั่งผลิตในมือ (Backlog) ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง ส่งผลให้มีความสามารถเดินเครื่องผลิตได้ต่อเนื่อง 60-65% และไม่มีการสั่งปิดไซต์งานเหมือนไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อกรวม 1,192 ล้านบาท โดยจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/2564 ประมาณ 200 ล้านบาท และรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ในปี 2565 ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2566 อย่างไรก็ตามบริษัทจะมีการรับงานใหม่ ๆ เข้ามาต่อเนื่อง ตามภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว โดยเฉพาะโครงการแนวราบ รวมถึงผลบวกจากการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) อีกด้วย เช่น โรงงาน ห้างสรรพสินค้าและสำนักงาน เป็นต้น
ขณะที่ ล่าสุดบริษัทยังได้รับงานใหม่จากลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ 7 โครงการ เช่น Motif Townhouse, สัมมากร คู้บอน, พาโน เซน, Victoria, แสนสิริ K-series อ่อนนุช, TMT Land และ กานดา ลำลูกกา คลอง 2 มูลค่ารวมกว่า 199 ล้านบาท อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้าประเภทแนวราบและแนวสูงอีกหลายราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ดังนั้นมีความมั่นใจว่าการดำเนินงานในปี 2564 จะมีรายได้ตามเป้าที่ปรับใหม่ที่โตไม่ต่ำกว่า 35% และมีกำไรอยู่ในระดับที่ดีมาก
ด้านความคืบหน้าของโรงงานแห่งใหม่ (แห่งที่ 2) หากแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 1 เท่า หรือแตะ 1.4 ล้านตารางเมตรต่อปี เบื้องต้นจะเริ่มก่อสร้างและดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3/2566 เชื่อว่าจะสามารถรองรับงานในพื้นที่ได้เต็มที่ และจะมีการรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากฐานรายได้รวมในปัจจุบัน ส่วนความสามารถในการลงทุนค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งกระแสเงินสด และอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ต่ำเพียง 1 เท่า จากอดีต 6 เท่า
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาณฟื้นตัวในปี 2565 บริษัทถือเป็นรายแรกที่นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต สามารถผลิต Precast Concrete ได้รวดเร็วมากขึ้น และสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 5-10% พร้อมคาดว่าจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 บริษัทมองว่าจะสามารถเติบโตประมาณ 10-15% เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อก และขยายการเติบโตตามหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะทยอยฟื้นตัว กำลังซื้อผู้บริโภคกลับมาในหลายพื้นที่ ส่งผลให้โครงการบ้านยังเป็นที่ต้องการ